วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

มงคล38

mongkol.gif (7869 bytes)


๒๓.มีความถ่อมตน
ความอ่อนน้อมถ่อมตน คือ การไม่แสดงออกถึงความสามารถที่ตัวเองมีอยู่ให้ผู้อื่นทราบเพื่อข่มผู้อื่น หรือเพื่อโอ้อวด การไม่อวดดี เย่อหยิ่งจองหอง แต่แสดงตนอย่างสงบเสงี่ยม
ท่านว่าไว้ว่าโทษของการอวดดีนั้นมีอยู่ดังนี้คือ
๑.ทำให้เสียคน คือไม่สามารถกลับมาอยู่ในร่องในรอยได้เหมือนเดิม เสียอนาคต
๒.ทำให้เสียมิตร คือไม่มีใครคบหาเป็นเพื่อนด้วย ถึงจะมีก็ไม่ใช่เพื่อนแท้
๓.ทำให้เสียหมู่คณะ คือถ้าต่างคนต่างถือดี ก็ทำให้ไม่สามารถตกลงกันได้ ในที่สุดก็ไม่ถึงจุดหมาย หรือทำให้เป็นที่เบื่อหน่ายของคนอื่น
การทำตัวให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนนั้นมีหลักดังนี้คือ
๑.ต้องคบกัลยาณมิตร คือเพื่อนที่ดีมีศีลมีธรรม คอยตักเตือนหรือชักนำไปในทางที่ดีที่ถูกที่ควร
๒.ต้องรู้จักคิดไตร่ตรอง คือการรู้จักคิดหาเหตุผลอยู่ตลอดถึงความเป็นไปในธรรมชาติของมนุษย์ ต่างคนย่อมต่างจิดต่างใจ และรวมทั้งหลักธรรมอื่นๆ
๓.ต้องมีความสามัคคี คือการมีความสามัคคีในหมู่คณะ อลุ่มอล่วยในหลักการ ตักเตือน รับฟังและเคารพความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างมีเหตุผล
ท่านว่าลักษณะของคนถ่อมตนนั้นมีดังนี้
๑.มีกิริยาที่นอบน้อม
๒.มีวาจาที่อ่อนหวาน
๓.มีจิตใจที่อ่อนโยน
สรุปแล้วก็คือ สมบูรณ์พร้อมด้วยกาย วาจา และใจนั่นเอง
kylewave.gif (761 bytes)


๒๔.มีความสันโดษ
คำว่าสันโดษไม่ได้หมายถึงการอยู่ลำพังคนเดียวอย่างเดียวก็หาไม่ แต่หมายถึงการพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ในของของตัว ซึ่งท่านได้ให้นิยามที่เป็นลักษณะของความสันโดษเป็นดังนี้ คือ
๑.ยถาลาภสันโดษ หมายถึงความยินดีตามมีตามเกิด คือมีแค่ไหนก็พอใจเท่านั้น เป็นอยู่อย่างไรก็ควรจะพอใจ ไม่คิดน้อยเนื้อต่ำใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่
๒.ยถาพลสันโดษ หมายถึงความยินดีตามกำลัง เรามีกำลังแค่ไหนก็พอใจเท่านั้น ตั้งแต่กำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังบารมี หรือกำลังความสามารถเป็นต้น
๓.ยถาสารูปสันโดษ หมายถึงความยินดีตามควร ซึ่งโยงใยไปถึงความพอเหมาะพอควรในหลายๆเรื่อง เช่นรูปลักษณ์ของตนเอง และรวมทั้งฐานะที่เราเป็นอยู่
kylewave.gif (761 bytes)


๒๕.มีความกตัญญู
คือการรู้คุณ และตอบแทนท่านผู้นั้น บุญคุณที่ว่านี้มิใช่ว่าตอบแทนกันแล้วก็หายกัน แต่หมายถึงการรำลึกถึงพระคุณที่เคยให้ความอุปการะแก่เราด้วยความเคารพยิ่ง ท่านว่าสิ่งของหรือผู้ที่ควรกตัญญูนั้นมีดังนี้
๑.กตัญญูต่อบุคคล บุคคลที่ควรกตัญญูก็คือใครก็ตามที่มีบุญคุณควรระลึกถึงและตอบแทนพระคุณ เช่น บิดา มารดา อาจารย์เป็นต้น
๒.กตัญญูต่อสัตว์ ได้แก่สัตว์ที่มีคุณต่อเราช่วยทำงานให้เรา เราก็ควรเลี้ยงดูให้ดีเช่นช้าง ม้า วัว ควาย หรือสุนัขที่ช่วยเฝ้าบ้านเป็นต้น
๓.กตัญญูต่อสิ่งของ ได้แก่สิ่งของทุกอย่างที่มีคุณต่อเราเช่น หนังสือที่ให้ความรู้แก่เรา อุปกรณ์ทำมาหากินต่างๆ เราไม่ควรทิ้งคว้าง หรือทำลายโดยไม่เห็นคุณค่า
kylewave.gif (761 bytes)


๒๖.การฟังธรรมตามกาล
เมื่อมีโอกาส เวลา หรือตามวันสำคัญต่างๆ ก็ควรต้องไปฟังธรรมบ้างเพื่อสดับตรับฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ในหลักธรรมนั้นๆ และนำมาใช้กับชีวิตเราเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ท่านว่าเวลาที่ควรไปฟังธรรมนั้นมีดังนี้คือ
๑.วันธรรมสวนะ ก็คือวันพระ หรือวันที่สำคัญทางศาสนา
๒.เมื่อมีผู้มาแสดงธรรม ก็อย่างเช่น การฟังธรรมตามวิทยุ การที่มีพระมาแสดงธรรมตามสถานที่ต่างๆ หรือการอ่านจากสื่อต่างๆ
๓.เมื่อมีโอกาสอันสมควร อาทิเช่นในวันอาทิตย์เมื่อมีเวลาว่าง หรือในงานมงคล งานบวช งานกฐิน งานวัดเป็นต้น
คุณสมบัติของผู้ฟังธรรมที่ดีควรต้องมีดังนี้คือ
๑.ไม่ดูแคลนในหัวข้อธรรมว่าง่ายเกินไป
๒.ไม่ดูแคลนในความรู้ความสามารถของผู้แสดงธรรม
๓.ไม่ดูแคลนในตัวเองว่าโง่ ไม่สามารถเข้าใจได้
๔.มีความตั้งใจในการฟังธรรม และนำไปพิจารณา
๕.นำเอาธรรมนั้นๆไปปฏิบัติให้เกิดผล
kylewave.gif (761 bytes)


๒๗.มีความอดทน
ท่านว่าลักษณะของความอดทนนั้นสามารถจำแนกออกได้เป็นดังต่อไปนี้คือ
๑.ความอดทนต่อความลำบาก คือความลำบากที่ต้องประสพตามธรรมชาติ ซึ่งอาจมาจากสภาพแวดล้อมเป็นต้น
๒.ความอดทนต่อทุกขเวทนา คือทุกข์ที่เกิดจากสังขารของเราเอง เช่นความไม่สบายกายเป็นต้น
๓.ความอดทนต่อความเจ็บใจ คือการที่คนอื่นทำให้เราต้องผิดหวัง หรือพูดจาให้เจ็บช้ำใจ ไม่เป็นอย่างที่หวังเป็นต้น
๔.ความอดทนต่ออำนาจกิเลส คือสิ่งยั่วยวนทั้งหลายถือเป็นกิเลสทั้งทางใจและทางกายอาทิเช่น ความนึกโลภอยากได้ของเขา หรือการพ่ายแพ้ต่ออำนาจเงินเป็นต้น
วิธีทำให้มีความอดทนคือ มีหิริโอตัปปะ
๑.หิริ ได้แก่การมีความละอายต่อบาป การที่รู้ว่าเป็นบาปแล้วยังทำอีกก็ถือว่าไม่มีความละอายเลย
๒.โอตัปปะ ได้แก่การมีความเกรงกลัวในผลของบาปนั้นๆ
kylewave.gif (761 bytes)


๒๘.เป็นผู้ว่าง่าย
ท่านว่าผู้ว่าง่ายนั้นมีลักษณะที่สังเกตได้ดังนี้คือ
๑.ไม่พูดกลบเกลื่อนเมื่อได้รับการว่ากล่าวตักเตือน คือการรับฟังด้วยดี ไม่ใช่แก้ตัวแล้วปิดประตูความคิดไม่รับฟัง
๒.ไม่นิ่งเฉยเมื่อได้รับการเตือน คือการนำคำตักเตือนนั้นมาพิจารณาและแก้ไขข้อบกพร่องนั้นๆ
๓.ไม่จับผิดผู้ว่ากล่าวสั่งสอน คือการที่ผู้สอนอาจจะมีความผิดพลาด เนื่องจากความประมาท เราควรให้อภัยต่อผู้สอน เพราะการจับผิดทำให้ผู้สอนต้องอับอายขายหน้าได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีงาม
๔.เคารพต่อคำสอนและผู้สอน คือการรู้จักสัมมาคารวะต่อผู้ทำให้คำสอน และเคารพในสิ่งที่ผู้สอนได้นำมาแนะนำ
๕.มีความอ่อนน้อมถ่อมตน คือไม่แสดงความยะโส ถือตัวว่าอยู่เหนือผู้อื่นเพราะสิ่งที่ตัวเองเป็นตัวเองมี
๖.มีความยินดีต่อคำสอนนั้น คือยอมรับในคำสอนนั้นๆ ด้วยความยินดีเช่นการไม่แสดงความเบื่อหน่ายเพราะเคยฟังมาแล้ว เป็นต้น
๗.ไม่ดื้อรั้น คือการไม่อวดดี คิดว่าของตัวเองนั้นผิดแต่ก็ยังดันทุรังทำต่อไปเพราะกลัวเสียชื่อ เสียฟอร์ม
๘.ไม่ข้ดแย้ง เพราะว่าการว่ากล่าวตักเตือนหรือสั่งสอนนั้นก็คือ สิ่งที่ตรงข้ามกับที่เราทำอยู่แล้ว เราควรต้องเปิดใจให้กว้างไม่ขัดแย้งต่อคำสอน คำวิจารณ์นั้นๆ
๙.ยินดีให้ตักเตือนได้ทุกเวลา คือการยินดีให้มีการแสดงความคิดเห็นตักเตือนได้โดยไม่มีข้อยกเว้นเรื่องเวลา
๑๐.มีความอดทนต่อการเป็นผู้ถูกสั่งสอน คือการไม่เอาความขัดแย้งในความเห็นเป็นอารมณ์ แต่ให้เข้าใจเจตนาที่แท้จริงของผู้สอนนั้น
การทำให้เป็นคนว่าง่ายนั้นทำได้ดังนี้
๑.ลดมานะของตัว คือการไม่ถือดี ไม่ถือตัว ความไม่สำคัญตัวเองว่าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ อาทิเช่นถือตัวว่าการศึกษาดีกว่าเป็นต้น
๒.ละอุปาทาน คือการไม่ยึดถือในสิ่งที่เรามี เราเป็น หรือถือมั่นในอำนาจกิเลสต่างๆ
๓.มีสัมมาทิฏฐิ คือมีปัญญาที่เห็นชอบ การเห็นถูกเห็นควรตามหลักอริยสัจ ๔ เชื่อเรื่องความไม่เที่ยง เชื่อในเรื่องบุญเรื่องบาปเป็นต้น
kylewave.gif (761 bytes)


๒๙.การได้เห็นสมณะ
คำว่าสมณะแปลตรงตัวได้ว่า ผู้สงบ (หมายถึงผู้อยู่ในสมณเพศ) ท่านว่าคุณสมบัติของสมณะต้องประกอบไปด้วย ๓ อย่างคือ
๑.ต้องสงบกาย คือมีความสำรวมในการกระทำทุกอย่าง รวมถึงกิริยา มรรยาท ตามหลักศีลธรรม
๒.ต้องสงบวาจา คือการพูดจาให้อยู่ในกรอบของความพอดี มีความสุภาพสงบเสงี่ยมในคำพูดและภาษาที่ใช้ เป็นไปตามข้อปฏิบัติ ประเพณี
๓.ต้องสงบใจ คือการทำใจให้สงบปราศจากกิเลสครอบงำ ไม่ว่าจะเป็น โลภ โกรธ หลง หรือความพยาบาทใดๆ ตั้งมั่นอยู่ในสมาธิภาวนา
การได้เห็นสมณะมีอยู่ดังนี้คือ
๑.เห็นด้วยตา ความหมายก็ตรงตัวคือการเห็นจากการสัมผัสด้วยสายตาของตนเอง แล้วมีความประทับใจในความสำรวมในกาย
๒.เห็นด้วยใจ เนื่องจากความสำรวมกาย วาจา ใจของสมณะจะช่วยโนัมน้าวจิตใจของเราให้โอนอ่อนผ่อนตาม และรับฟังหลักคำสอนด้วยใจที่ยินดี ซึ่งนั่นก็หมายถึงการเปิดใจเราให้สมณะได้ชี้นำนั่นเอง
๓.เห็นด้วยปัญญา หมายความถึงการรู้โดยการใช้ปัญญาใคร่ครวญ พิจารณาในการสัมผัสและเข้าถึงและรับรู้ถึงคำสอนของสมณะผู้นั้น และรู้ว่าท่านเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอย่างแท้จริง
เมื่อเห็นแล้วก็ต้องทำอย่างนี้คือ
๑.ต้องเข้าไปหา คือเข้าไปขอคำแนะนำ ชี้แนะจากท่าน หรือให้ความเคารพท่าน
๒.ต้องเข้าไปบำรุงช่วยเหลือ คือการช่วยเหลือท่านในโอกาสอันควร เพื่อแบ่งเบาภาระของท่าน
๓.ต้องเข้าไปฟัง คือการรับฟังคุณธรรม หลักคำสอนของท่านมาไว้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาชีวิต
๔.หมั่นระลึกถึงท่าน คือการระลึกถึงความดีที่ท่านมีแล้วนำมาเป็นตัวอย่างกับตัวเราเอง
๕.รับฟังรับปฏิบัติ คือการรับคำแนะนำของท่านมาปฏิบัติทำตามเพื่อให้เกิดผล ครั้นเมื่อติดขัดก็ใคร่แก้ไขเพื่อให้รู้จริงเห็นจริงตามนั้น
kylewave.gif (761 bytes)


๓๐.การสนทนาธรรมตามกาล
การได้สนทนากันเรื่องธรรม ทำให้ขยายขอบเขตการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ และได้รู้ในสิ่งใหม่ๆ ที่เราอาจนึกไม่ถึง หรือเป็นการเผื่อแผ่ความรู้ที่เรามีให้แก่ผู้อื่นได้ทราบด้วย
ก่อนที่เราจะสนทนาธรรม ควรต้องพิจารณาและคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้คือ
๑.ต้องรู้เรื่องที่จะพูดดี
๒.ต้องพูดเรื่องจริง มีประโยชน์
๓.ต้องเป็นคำพูดที่ไพเราะ
๔.ต้องพูดด้วยความเมตตา
๕.ต้องพูดจาโอ้อวด ยกตนข่มท่าน
ข้อปฏิบัติเมื่อมีการสนทนาธรรม
๑.มีศีลธรรม คือการเป็นผู้ที่รักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ เป็นนิจศีลอยู่แล้ว การเป็นผู้ปฏิบัติถือเป็นหน้าที่ขั้นต้นในการเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี
๒.มีสมาธิดี คือการมีจิตใจจดจ่ออยู่กับเรื่องที่สนทนา ไม่ว่อกแวก พร้อมทั้งเป็นผู้ที่หมั่นเจริญสมาธิภาวนาด้วย
๓.แต่งการสุภาพ คือการแต่งตัวให้เหมาะสมกับยุคสมัย อยู่ในกรอบประเพณีของสังคมแวดล้อม ณ ที่นั้นๆ ถูกกาลเทศะ
๔.มีกิริยาสุภาพ คือมีความสุภาพในท่วงท่าไม่ว่าจะเดิน นั่ง ยืน หรือการกระทำใดๆ การที่มีกิริยางดงาม สุภาพย่อมโน้มน้าวจิดใจผู้พบเห็นให้เกิดความประทับใจที่ดี
๕.ใช้วาจาสุภาพ คือการใช้ถ้อยคำที่สุภาพในการสนทนา ไม่ใช้คำหยาบคาย หรือก้าวร้าว
๖.ไม่กล่าวค้านพระพุทธพจน์ คือการไม่นำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นข้อสงสัย หรือกล่าวค้าน เพราะสิ่งที่กล่าวไว้ในพระพุทธพจน์ย่อมเป็นความจริงตลอดกาล
๗.ไม่ออกนอกประเด็นที่ตั้งไว้ คือการพูดให้อยู่ในหัวข้อที่ตั้งไว้ ไม่พูดแบบน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง
๘.ไม่พูดนานจนน่าเบื่อ คือการเลือกเวลาที่เหมาะสมตามสถานการณ์ เนื่องจากเรื่องบางเรื่องอาจไม่จำเป็นต้องขยายความมากเกินไป
kylewave.gif (761 bytes)


๓๑.การบำเพ็ญตบะ
ตบะ โดยความหมายแปลว่า ทำให้ร้อน ไม่ว่าด้วยวิธีใด การบำเพ็ญตบะหมายความถึงการทำให้กิเลส ความรุ่มร้อนต่างๆ หมดไป หรือเบาบางลง ลักษณะการบำเพ็ญตบะมีดังนี้
๑.การมีใจสำรวมในอินทรีย์ทั้ง ๖ (อายตนะภายใน ๖ อย่าง) ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ให้หลงติดอยู่กับสัมผัสภายนอกมากเกินไป ไม่ให้กิเลสครอบงำใจเวลาที่รับรู้อารมณ์ผ่านอินทรีย์ทั้ง ๖ (อินทรีย์สังวร)
๒.การประพฤติรักษาพรหมจรรย์ เว้นจากการร่วมประเวณี หรือกามกิจทั้งปวง
๓.การปฏิบัติธรรม คือการรู้และเข้าใจในหลักธรรมเช่นอริยสัจ เป็นต้น ปฏิบัติตนให้อยู่ในศีล และถึงพร้อมด้วยสมาธิ และปัญญา โดยมีจุดหมายสูงสุดที่พระนิพพาน กำจัดกิเลส ละวางทุกสิ่งได้หมดสิ้นด้วยปัญญา
kylewave.gif (761 bytes)


๓๒.การประพฤติพรหมจรรย์
คำว่าพรหมจรรย์หมายความถึง การบวชซึ่งละเว้นเมถุน การครองชีวิตที่ปราศจากเมถุน การประพฤติธรรมอันประเสริฐ ท่านว่าลักษณะของธรรมที่ถือว่าเป็นการประพฤติพรหมจรรย์นั้น (ไม่ใช่ว่าต้องบวชเป็นพระ) มีอยู่ดังนี้คือ
๑.ให้ทาน บริจาคทานไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ สิ่งของ เงินทอง หรือปัญญา
๒.ช่วยเหลือผู้อื่นในกิจการงานที่ชอบ ที่ถูกที่ควร (เวยยาวัจจมัย)
๓.รักษาศีล ๕ คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ทำผิดในกาม ไม่พูดปด ไม่ดื่มน้ำเมา (เบญจศีล)
๔.มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขากับคนที่เราต้องพบปะด้วยทุกคน (อัปปมัญญา)
๕.งดเว้นจากการเสพกาม (เมถุนวิรัติ)
๖.ยินดีในคู่ของตน คือการมีสามีหรือภรรยาคนเดียว (สทารสันโดษ)
๗.เพียรพยายามที่จะละความชั่ว ไม่ท้อถอยในความบากบั่น (วิริยะ)
๘.รักษาซึ่งศีล ๘ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ร่วมประเวณี ไม่พูดปด ไม่ดื่มน้ำเมา ไม่บริโภคอาหารตั้งแต่เที่ยงวันเป็นต้นไป ไม่ฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่น ใช้ของหอมหรือเครื่องประดับ ไม่นอนบนที่สูงใหญ่ หรูหรา (อุโบสถ)
๙.ใช้ปัญญาเห็นแจ้งใน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (อริยธรรม)
๑๐.ศึกษาปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา ให้รู้แจ้งเห็นจริง (สิกขา)
*ขออธิบายเพิ่มเติมว่าข้อ ๕ ที่บอกว่าให้งดเว้นการเสพกาม แต่ข้อ ๖ ให้ยินดีในคู่ของตนนั้น เพราะว่าการประพฤติพรหมจรรย์ในที่นี้หมายถึง บุคคลทั่วไปที่อาจมีครอบครัวแล้ว ก็ประพฤติพรหมจรรย์ได้โดยการงดเว้นการร่วมประเวณี เช่นในวันสำคัญๆเป็นต้น
kylewave.gif (761 bytes)


๓๓.การเห็นอริยสัจ
 อริยสัจ หมายถึงความจริงอันประเสริฐ หลักแห่งอริยสัจมีอยู่ ๔ ประการตามที่ท่านได้สั่งสอนไว้มีดังนี้
๑.ทุกข์ คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความเป็นจริงของสัตว์โลกทุกผู้ทุกนามต้องมีทุกข์ ๓ ประการคือ การเกิด ความแก่ ความตาย นอกจากนี้ก็มีความทุกข์ที่เป็นอาการ หรือเกิดจากสภาพแวดล้อมสรุปได้ดังนี้คือ
    -ความโศกเศร้า (โสกะ)
    -ความรำพันด้วยความเสียใจ (ปริเทวะ)
    -ความเจ็บไข้ได้ป่วย (ทุกขะ)
    -ความเสียใจ (โทมนัสสะ)
    -ความท้อแท้ สิ้นหวัง คับแค้นใจ (อุปายาสะ)
    -การตรอมใจ ผิดหวังจากสิ่งที่ไม่รัก (อัปปิเยหิ สัมปโยคะ)
    -การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก (ปิเยหิ วิปปโยคะ)
    -ความหม่นหมองเมื่อปรารถนาแล้วไม่ได้สิ่งนั้น (ยัมปิจฉัง นลภติ)
๒.สมุทัย คือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ นอกจากเหตุแห่งทุกข์ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ต้นตอของทุกข์ก็อยู่ที่ใจของเราด้วยนั่นก็คือความอยาก ท่านว่าเป็นตัณหา ๓ อย่าง ซึ่งแบ่งออกได้เป็นดังนี้คือ
    -ความอยากได้ หมายรวมถึงอยากทุกอย่างที่นำมาสนองสัมผัสทั้ง ๕ และกามารมณ์ (กามตัณหา)
    -ความอยากเป็น คือความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ (ภวตัณหา)
    -ความไม่อยากเป็น คือความไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ (วิภวตัณหา)
๓.นิโรธ คือความดับทุกข์ ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป ความหลุดพ้น หรือหมายถึงภาวะของพระนิพพานนั่นเอง
๔.มรรค คือข้อปฏิบัติ หรือหนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ การเดินทางสายกลางเพื่อไปให้ถึงการดับทุกข์ คือ มรรคมี ๘ ประการ คือ
    -ความเห็นชอบ เช่นความศรัทธาในเบื้องต้นต่อหลักธรรม คำสอน เช่นการเชื่อว่ากรรมดีกรรมชั่วมีจริงเป็นต้น (สัมมาทิฏฐิ)
    -ความดำริชอบ หรือความคิดชอบ มีความคิดที่ถูกต้องตามหลักธรรม เช่นการใช้ปัญญาพิจารณาความไม่เที่ยงของสังขาร หรือการไม่คิดอยากได้ของเขามาเป็นของเราเป็นต้น (สัมมาสังกัปปะ)
    -เจรจาชอบ คือการปฏิบัติตามหลักธรรม ไม่พูดโกหก ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อเป็นต้น (สัมมาวาจา)
    -ทำการชอบ หรือการมีการกระทำที่ไม่ผิดหลักศีลธรรม เช่นไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์เป็นต้น (สัมมากัมมันตะ)
    -เลี้ยงชีพชอบ คือการทำมาหากินในทางที่ถูก ไม่เบียดเบียนหรือทำความเดือดร้อนให้กับสัตว์หรือผู้อื่น อยู่ในหลักธรรมที่กำหนด เช่น ไม่มีอาชีพค้ามนุษย์ หรืออาชีพค้าอาวุธเป็นต้น (สัมมาอาชีวะ)
    -ความเพียรชอบ คือการหมั่นทำนุบำรุงในสิ่งที่ถูกต้อง อาทิเช่นการพยายามละกิเลสออกจากใจ หรือการพยายามสำรวม กาย วาจา ใจให้ดำเนินตามหลักธรรมของท่านเป็นต้น (สัมมาวายามะ)
    -ความระลึกชอบ คือมีสติตั้งมั่นในสิ่งที่ถูกต้องตามหลักธรรม เช่นการพึงระลึกถึงความตายที่ต้องเกิดกับทุกคนเป็นต้น (สัมมาสติ)
    -จิตตั้งมั่นชอบ คือมีจิตที่มีสมาธิ ไม่ว่อกแวกหรือคิดฟุ้งซ่าน และการทำสมาธิภาวนาตามหลักการที่ท่านได้บัญญัติแนะนำเอาไว้ (สัมมาสมาธิ)
kylewave.gif (761 bytes)


๓๔.การทำให้แจ้งในพระนิพพาน
นิพพาน คือ ภาวะของจิตที่ดับกิเลสได้หมดสิ้น หลุดจากอำนาจกรรม และไม่ต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏอีก ซึ่งก็คือพ้นจากทุกข์นั่นเอง
ท่านว่าลักษณะของนิพพานมีอยู่ ๒ ระดับดังนี้คือ
๑.การดับกิเลสขณะที่ยังมีเบญจขันธ์เหลืออยู่ หรือการเข้าถึงนิพพานขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ -สอุปาทิเสสนิพพาน
๒.การดับกิเลสที่ไม่มีเบญจขันธ์เหลืออยู่เลย คือการที่ร่างกายเราแตกดับแล้วไปเสวยสุขอันเป็นอมตะในพระนิพพาน (ตรงนี้ไม่สามารถอธิบายให้กระจ่างมากไปกว่านี้ได้) -อนุปาทิเสสนิพพาน
การที่จะเข้าถึงพระนิพพานได้ ก็ต้องปฏิบัติธรรมและเจริญสมาธิภาวนาจนถึงขั้นสูงสุด
kylewave.gif (761 bytes)


๓๕.มีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม
คำว่าโลกธรรม มีความหมายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำบนโลกนี้ ซึ่งเราไม่ควรมีจิดหวั่นไหวต่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ท่านว่าลักษณะของโลกธรรมมี ๔ ประการคือ
๑.การได้ลาภ เมื่อมีลาภผลก็ย่อมมีความเสื่อมเป็นธรรมดา มีแล้วก็ย่อมหมดไปได้ เป็นแค่ความสุขชั่วคราวเท่านั้น
๒.การได้ยศ ยศฐาบรรดาศักดิ์ล้วนเป็นสิ่งสมมุติขึ้นมาทั้งนั้น เป็นสิ่งที่คนยอมรับกันว่าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ พอหมดยศก็หมดบารมี
๓.การได้รับการสรรเสริญ ที่ใดมีคนนิยมชมชอบ ที่นั่นก็ย่อมต้องมีคนเกลียดชังเป็นเรื่องธรรมดา การถูกนินทาจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ
๔.การได้รับความสุข ที่ใดมีสุขที่นั่นก็จะมีทุกข์ด้วย มีความสุขแล้วก็อย่าหลงระเริงไปจนลืมนึกถึงความทุกข์ที่แฝงมาด้วย
การทำให้จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม มีวิธีดังนี้คือ
๑.ใช้ปัญญาพิจารณา โดยตั้งอยู่ในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา พิจารณาอยู่เนืองๆ ถึงหลักธรรมต่างๆ
๒.เจริญสมาธิภาวนา ใช้กรรมฐานพิจารณาถึงความเป็นไปในความไม่เที่ยงในสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก และสังขาร
kylewave.gif (761 bytes)


๓๖.มีจิตไม่โศกเศร้า
 ท่านว่ามีเหตุอยู่ ๒ ประการที่ทำให้จิตเราต้องโศกเศร้าคือ
๑.ความโศกเศร้าที่เกิดเนื่องมาจากความรัก รวมถึงรักสิ่งของ ทรัพย์สินเงินทองด้วย
๒.ความโศกเศร้าที่เกิดจากความใคร่
การทำให้จิตใจไม่โศกเศร้านั้น มีข้อแนะนำดังนี้
๑.ใช้ปัญญาพิจารณาอยู่เนืองๆ ถึงความไม่เที่ยงในสิ่งของทั้งหลาย และร่างกายของเรา
๒.ไม่ยึดมั่นในตัวตน หรือความจีรังยั่งยืน ในคนหรือสิ่งของว่าเป็นของเรา
๓.ทุกอย่างในโลกล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ แม้ร่างกายเราก็ใช้เป็นที่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น
๔.คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่เที่ยงด้วยกันทั้งนั้น
kylewave.gif (761 bytes)


๓๗.มีจิตปราศจากกิเลส
 กิเลส ก็คือสิ่งที่ทำให้เกิดความเศร้าหมอง ซึ่งได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ท่านได้แบ่งประเภทของกิเลสออกเป็นดังนี้ คือ
๑.ราคะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น
    -ความโลภอย่างแรงจนแสดงออกมา เช่นการลักขโมย ปล้น จี้ ข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น (อภิชฌาวิสมโลภะ)
    -ความเพ่งเล็งจะเอาของคนอื่นมาเป็นของตัว มีใจอยากได้ของคนอื่นแต่ยังไม่ถึงกับแสดงออก (อภิชฌา)
    -ความอยากได้ในทางไม่ชอบ เช่นการยอมรับสินบน การทุจริตเพื่อแลกกับการมีทรัพย์เป็นต้น (ปาปิจฉา)
    -ความมักมากเห็นแก่ได้ ด้วยการเอามาเป็นของตนจนเกินพอดี เอาประโยชน์ใส่ตัวโดยไม่คำนึงถึงคนอื่น (มหิจฉา)
    -ความยินดีในกาม ก็คือยังไม่สามารถละกิจกรรมทางเพศได้ ยังมีความรู้สึก มีแรงกระตุ้น มีความพอใจในเรื่องเพศ (กามระคะ)
    -ความยินดีในรูปธรรมอันปราณีต ก็คือติดอยู่ในอารมณ์ของรูปฌาณ ปรารถนาในรูปของภพเมื่อทำสมาธิขั้นสูงขึ้นไป (รูปราคะ)
    -ความยินดีในอรูปฌาณ ก็คือติดอยู่ในอารมณ์ของอรูปฌาณเมื่อทำสมาธิถึงภพของอรูปพรหม (อรูปราคะ)
๒.โทสะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น
    -พยาบาท คือการผูกใจอาฆาต มีใจที่ไม่หวังดี การจองเวร
    -โทสะ คือการคิดประทุษร้าย เนื่องด้วยมีใจพยาบาทแล้วก็มีใจคิดหมายทำร้าย
    -โกธะ คือความโกรธ ความเดือดร้อนใจ ซึ่งล้วนเป็นเหมือนไฟที่เผาตัวเอง
    -ปฏิฆะ คือความขัดใจ ความไม่พอใจอันทำให้อารมณ์หงุดหงิด
๓.โมหะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น
    -ความเห็นผิดเป็นชอบ เช่นการไม่เชื่อในเรื่องบาป เรื่องบุญเป็นต้น (มิจฉาทิฐิ)
    -ความหลงผิด ไม่รู้ตามความเป็นจริง (โมหะ)
    -การเห็นว่ามีตัวตน เช่นการเชื่อในสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่าเท่านั้น (สังกายทิฏฐิ)
    -ความสงสัย คือสงสัยในพระธรรม คำสั่งสอนในเรื่องการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ (วิจิกิจฉา)
    -การยึดถืออย่างงมงาย เช่นการไปกราบไหว้สัมพเวสีที่อยู่ตามต้นไม้ ขอลาภเป็นต้น (สีลัพพตปรามาส)
    -ความถือตัว คือการสำคัญตัวเองผิดว่าเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ (มานะ)
    -ความฟุ้งซ่าน คือการที่จิตใจว่อกแวก คิดไม่เป็นสาระ ไม่อยู่กับร่องกับรอย ไม่มีสมาธิ หรือการทำสมาธิไม่นิ่ง (อุทธัจจะ)
    -ความไม่รู้จริง คือการที่รู้แค่ผิวเผิน หรือการทึกทักเอาเอง ไม่ปฏิบัติตามหลักพระธรรม ยังไม่เกิดปัญญา (อวิชชา)
โทษของการมีกิเลสดังกล่าวข้างต้นพอสรุปได้สั้นๆ ดังนี้คือ
๑.ราคะ มีโทษน้อย แต่คลายช้า
๒.โทสะ มีโทษมาก แต่คลายเร็ว
๓.โมหะ มีโทษมาก แต่คลายช้า
kylewave.gif (761 bytes)


๓๘.มีจิตเกษม
เกษม หมายถึงมีความสุข สบาย หรือสภาพที่มีจิตใจที่เป็นสุข มีจิดเกษมก็คือว่ามีจิตที่เป็นสุขในที่นี้หมายถึงการละแล้วซึ่งกิเลส ที่ท่านว่าไว้ว่าเป็นเครื่องผูกอยู่ ๔ ประการคือ
๑.การละกามโยคะ คือการละความยินดีในวัตถุ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายเรียกว่ากามคุณซึ่งประกอบด้วย รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส
๒.การละภวโยคะ คือการละความยินดีในภพ โดยให้เห็นว่าสิ่งใดๆในโลกล้วนไม่เที่ยงแท้ หรือคงอยู่ตลอดไป
๓.การละทิฏฐิโยคะ คือการละความยินดีในความเห็นผิดเป็นชอบ โดยให้ดำเนินตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่กล่าวมาแล้ว
๔.การละอวิชชาโยคะ คือการละความยินดีในอวิชชาทั้งหลาย ความไม่รู้ทั้งหลาย โดยให้มุ่งปฏิบัติเพื่อปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง

งานวันปีใหม่

งานวันขึ้นปีใหม่

งานวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันเทศกาลที่ประชาชนมีประเพณีทำบุญ และมีงานรื่นเริงต่าง ๆ ได้แก่มหรสพ หรือการละเล่นพื้นเมือง รวมทั้งการเที่ยวเตร่หาความสนุกสนาน เป็นการเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่ เพื่อความสุข และความมีศิริมงคล งานวันปีใหม่นิยมมีงานสองวันติดต่อกัน คือวันสิ้นปีเก่า และวันขึ้นปีใหม่
            ประเทศไทยได้กำหนดเอาวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่มาตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๓๒ และได้เปลี่ยนมาเป็นวันที่ ๑ มกราคม ตามแบบสากล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔
            สมัยเมื่อใช้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ มีการจัดงานพระราชพิธีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ต่อเนื่องกันเป็นพระราชพิธีตรุษ และพระราชพิธีเถลิงศกสงกรานต์ เริ่มต้นงานตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ไปสิ้นสุดในวันที่ ๒ เมษายน ในระหว่างนี้มีงานบำเพ็ญพระราชกุศล และงานพระราชพิธีอื่นแทรกหลายอย่าง ปัจจุบันเมื่อเปลี่ยนเป็นวันที่ ๑ มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่งานพระราชพิธีอย่างเก่าจึงเปลี่ยนแปลงไป และยกเลิกไปก็มีมีการแยกงานพระราชพิธีตรุษ และพระราชพิธีเถลิงศก สงกรานต์เป็นสองงานคือ พระราชพิธีขึ้นปีใหม่งานหนึ่ง และพระราชพิธีสงกรานต์อีกงานหนึ่ง
            พระราชพิธีขึ้นปีใหม่ คงจัดให้มีแต่การพระราชกุศลทรงบาตร เรียกว่า พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรวันขึ้นปีใหม่ กำหนดทรงบาตรในตอนเช้าวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาเห็นว่าไม่สดวกทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส เพราะในวันขึ้นปีใหม่ได้มีงานบำเพ็ญกุศล ฉลองวันขึ้นปีใหม่กันทั่วไป ทั้งทางราชการ และประชาชน จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้กำหนดเป็นวันที่ ๓๑ ธันวาคม ของปีเก่าแทน
           สมัยก่อนพระสงฆ์ที่นิมนต์มารับบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวังต้องใช้บาตรมีถลกสพาย พร้อมกับถือย่าม สำหรับผลไม้และของหวาน ปัจจุบันใช้อุ้มบาตรอย่างบิณฑบาตธรรมดา แต่ถือย่ามด้วย งานพระราชพิธีทรงบาตรวันขึ้นปีใหม่ บางปีก็นิมนต์พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ตามวัดต่าง ๆ มีจำนวน ๕๒๕ รูปบ้าง ๕๐๐ รูปบ้าง แบ่งออกเป็นสาย ๆ ละ ๒๕ รูป เว้นแต่สายที่เข้ารับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สายนี้นิมนต์พระสงฆ์ ๕๐ รูป มีสมเด็จพระราชาคณะ หรือพระราชาคณะผู้ใหญ่เป็นหัวหน้าสายนำเข้ารับ ผู้ที่เตรียมของมาใส่บาตรจึงเตรียมมาให้พอดีกับ จำนวนพระ ๒๕ รูป เมื่อพระสงฆ์รับบิณฑบาตหมดเรียบร้อยแล้ว ทุกสายแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงทักทายปราศรัยกับท่านที่มาตั้งบาตร ได้เวลาอันสมควรแล้วจึงเสด็จขึ้น
            สำหรับงานของทางราชการ และประชาชนในวันขึ้นปีใหม่ จะมีตั้งแต่คืนวันที่ ๓๑ ธันวาคม จนถึงวันที่ ๑ มกราคม คือในวันสิ้นปีทางราชการ หรือประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ จะจัดให้มีการรื่นเริงและมหรสพจนเที่ยงคืน มีการเชิญบุคคลสำคัญของบ้านเมืองเช่น ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา กล่าวคำปราศรัยทางสื่อมวลชนต่าง ๆ และในตอนสุดท้ายก่อนถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. ก็จะมีพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพรปีใหม่แก่ประชาชน สมเด็จพระสังฆราชประทานพรปีใหม่แก่พุทธศาสนิกชน
            เมื่อถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. วัดวาอารามต่าง ๆ จะจัดพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ย่ำฆ้องกลองประโคม โดยทั่วกัน
            ตอนเช้า ๑ มกราคม จะมีการทำบุญตักบาตรที่วัดหรือที่ใด ๆ สุดแต่จะพอใจ