วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดลําปาง

อำเภอเมืองลำปาง

พระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม
        
  ตั้งอยู่ที่ ถนนสุชาดา ตำบลเวียงเหนือ เป็นวัดเก่าแก่และสวยงาม มีอายุนับพันปี เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 1979 เป็นเวลานานถึง 32 ป ีเหตุที่วัดนี้ได้ชื่อว่าวัดพระแก้วดอนเต้า มีตำนานกล่าวว่า พระมหาเถระแห่งวัดนี้ได้พบ แก้วมรกตในแตงโม (ภาษาเหนือเรียกว่า หมากเต้า) และนำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป แต่ต่อมาได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระธาตุลำปางหลวง จนถึงปัจจุบัน ปูชนียสถานที่สำคัญในวัด พระแก้วดอนเต้า ได้แก่ องค์พระบรมธาตุของดอนเต้า พระเจดีย์องค์ใหญ่ ซึ่งบรรจุพระเกศาธาตุ ของพระพุทธเจ้า
   วิหารหลวงที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่มีอายุเก่าแก่พอ ๆ กับวัดนี้ นอกจากนี้ยังมีวิหารหลวง ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย วิหารพระเจ้าทองทิพย์สร้างศิลปะสมัยเชียงแสน มณฑปหรือพญาธาตุศิลปะแบบพม่า วิหารลายคำสุชาดารามฝีมือช่างเชียงแสน ภายในมีจิตรกรรม ฝาผนังโดยมีลวดลายทอง ประดับตามส่วนต่าง ๆ งดงาม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเชียงแสน และยังมีพิพิธภัณฑสถานแห่งล้านนา อันเป็นแหล่งรวบรวมศิลปวัตถุแบบล้านนาเช่น สัตตภัณฑ์ เครื่องถ้วย กระเบื้องพระพุทธรูป เป็นต้น

การเดินทาง
ข้ามสะพานรัษฎาภิเษกแล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนพระแก้วประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นยอดพระธาตุเด่นอยู่บนเนิน



วัดพระเจดีย์ซาวหลัง
         
  
วัดพระเจดีย์ซาวหลัง ตั้งอยู่ที่ตำบลต้นธงชัย ห่างจากตัวเมือง 1.5 กิโลเมตร ตามถนนสาายลำปาง แจ้ห่ม คำว่า "ซาว" แปลว่า ยี่สิบ คำว่า "หลัง" แปลว่า องค์ ฉะนั้น วัดเจดีย์ซาวหลัง จึงแปล ได้ว่า วัดที่มีเจดีย์ 20 องค์ จากหลักฐานการขุดพบพระเครื่องสมัย หริภุญไชยที่องค์พระเจดีย์ ทำให้ สันนิษฐานได้ว่าวัดนี้ สร้างมานานกว่าพันปี
จุดเด่นของวัด
     
คือองค์พระธาตุซาวที่มีศิลปะล้านนาผสมศิลปะพม่าเชื่อกันว่าหากใครนับได้ครบ 20 องค์ ถือว่า เป็นคน มีบุญ ข้างหมู่พระเจดีย์มีวิหารเก่าแก่หลังเล็กประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางสมาธิศิลปะ เชียงแสน ชาวบ้านเรียกว่า พระพุทธรูปทันใจ พระอุโบสถหลังใหญ่ซึ่งประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัยที่มีพุทธลักษณะงดงามบานประตูทั้งสามเป็นของโบราณ เขียนลวดลายรดน้ำละเอียด สวยงาม เสาซุ้มประตูหน้าต่างประดับลวดลายกระจกสีเป็นลักษณะ ศิลปะสมัยใหม่ และที่ศาลาการเปรียญ เรือนไม้ชั้นเดียว ด้านหลังพระอุโบสถเป็นพิพิธภัณฑ์สถาน เขลางค์นครแสดงโบราณวัตถุที่ชาวบ้านนำมาถวาย เมื่อปี พ.ศ.2526 ชาวบ้านได้ขุดพบ พระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์หนัก 100 บาทสลึง มามอบให้แก่ทางวัด ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้ชื่อว่า พระแสนแช่ทองคำ เป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย ศิลปะสมัยล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 ขนาดหน้าตักกว้าง 9 นิ้วครึ่ง สูง 15 นิ้ว เป็นพระพุทธรูป ทองคำองค์แรกที่ขึ้นทะเบียนเป็น โบราณวัตถุแห่งชาติ


เขื่อนกิ่วลม


        
 อยู่ห่างจากตัวเมืองไป 38 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายลำปาง -งาว โดยแยกซ้ายตรงหลัก กิโลเมตรที่ 623-624 เข้าไปอีก 14 กิโลเมตร

     เขื่อนกิ่วลมอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทแต่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมชลประทาน
บริเวณเหนือเขื่อนเป็นอ่างเก็บน้ำเหมาะแก่การล่องเรือหรือแพ เพราะมีทัศนียภาพสวยงาม การล่องแพ ใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งวันมีสถานที่น่าสนใจ เช่น แหลมชาวเขื่อนเกาะวังแก้ว ผางาม ผาเกี๋ยง ถ้ำสมบัติ ทะเลสาบกิ่วลม หมู่บ้านสา ฯลฯ 
สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไปหากต้องการล่องแพ หรือค้างคืนบนที่พัก สามารถทำได้ 2 ลักษณะ คือ
1. ล่องแพวังแก้ว/เกาะวังแก้วรีสอร์ท (แพวังแก้ว ฮอลิเดย์ นำเที่ยวจังหวัดลำปางและภาคเหนือ) หรือพักค้างคืนบนเกาะวังแก้วรีสอร์ท ซึ่งเป็นแพติดเครื่องยนต์จัดแพกเกจ ล่องแพ-บ้านพัก-อาหาร ตั้งแต่ 6 ท่านขึ้นไป หรือค้างคืนที่เกาะวังแก้วรีสอร์ท เป็นบ้านพัก ตากอากาศ บนเกาะกลางน้ำ บ้านพักจำนวน  10 หลัง , 20 ห้อง  (พักได้ 60-70 ท่าน) ราคา 900-3,000 บาท
สำนักงานจอง  91 ตรอกโรงไฟฟ้าเก่า ถ.มนตรี ต.สบตุ๋ย อ.เมือง ลำปาง 52100
โทร.                0 5422 3733        ,                08 9854 1293           Fax. 0 5481 0088 

สามารถดูเว็บไซต์   www.wangkaewresort.com
 
สำนักงานลำปาง : 91 ตรอกโรงไฟฟ้าเก่า  ถ.มนตรี ต.สบตุ๋ย อ.เมือง จ.ลำปาง 52100
โทร.                0 5422 3733                       08 9854 1293           Fax. 0 5481 0088
สำนักงานกรุงเทพฯ : 58/1 ถ.ฉลองกรุง  แขวงลำผักชี  เขตหนองจอก  กรุงเทพฯ 10530
โทร.0 2988 4564
หรือ เกาะวังแก้ว รีสอร์ท                08 9854 1293        ,                08 1289 9898        ,                0 5432 5645        ,                08 1998 3085        



2. ล่องแพชาวเขื่อน-กิ่วลมรีสอร์ท ซึ่งมีที่พักเป็นบังกะโล (พักได้ 40-50 คน) จัดแพคเกจ ล่องแพ, ที่พัก, อาหาร, shop drink ราคา 450/คน/วัน (ไป-กลับ) และ  800/คน (1 คืน 2 วัน)
ที่อยู่  เขื่อนกิ่วลม อ.เมือง ลำปาง
โทร.                  054-334393        ,                089-2636897         (คุณชัยชาญ)
สามารถดูเว็บไซต์  www.paechaokhuen.tht.in
 




สำนักปฏิบัติธรรมหลวงพ่อเกษม เขมโก

        
ตั้งอยู่ชานเมืองลำปาง ประมาณ 4 กิโลเมตร ตามถนนสายลำปาง-แจ้ห่ม ภายในบริเวณ มีรูปปั้นขนาดใหญ่ของหลวงพ่อเกษมเขมโก พระเกจิอาจารย์อันเป็นที่เคารพนับถือของบรรดา พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ ยืนเด่นอยู่ ด้านหน้า หลังูรูปปั้นมีมณฑปลักษณะเป็นอาคารทรงไทย ประยุกต์ มีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งของหลวงพ่อเกษม และห้องด้านซ้ายเป็นที่ตั้งโลงแก้วกระจกใสบรรจุศพ

     ถึงแม้ว่าหลวงพ่อเกษม เขมโก จะมรณภาพไปนานแล้ว แต่ก็ยังมีพุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใส ศรัทธายังคงเดินทางไปนมัสการอยู่เสมอ มิได้ขาด

ชมเมืองบนรถม้า


         
นับเป็นเวลาย้อนหลังไปช่วง 80 ปีที่แล้ว สมัยของเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตซึ่งตรงกับสมัยรัชกาล ที่ 5 การคมนาคมขนส่งทางรถยนต์ยังพัฒนาไม่ถึงนครลำปาง รถม้าเป็นพาหนะชนิดเดียว ที่ได้รับความ นิยมในการเดินทางสูงสุดและสามารถใช้บรรทุกของหรือสินค้า

    รถม้าคันแรกได้ถูกซื้อมาจากกรุงเทพฯ ขณะนั้นทางกรุงเทพฯ มีรถยนต์ใช้มากขึ้น บทบาทของรถม้าลากในกรุงเทพฯ จึงลดลงรถม้าจึงได้ถูกนำมาใช้ที่นครลำปาง และยังได้กระจายไปสู่เมืองหลักของภาคต่างๆ ได้แก่ นครราชสีมาของอีสาน นครศรีธรรมราชของภาคใต้ นครเชียงใหม่ เมืองเชียงราย เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองแม่ฮ่องสอน ของทางภาคเหนือแต่ด้วยเหตุใดไม่ปรากฏผู้ประกอบการรถม้าในเมืองดังกล่าวจึงเลิกกิจการไป คงเหลือแต่เฉพาะจังหวัดลำปางแห่งเดียว ที่ยังคงใช้รถม้าอยู่ตราบ จนกระทั่งวันนี้

    ทุกวันนี้มีรถม้าเหลืออยู่ไว้เพื่อการบริการนักท่องเที่ยวทางจังหวัดได้จัดเส้นทางสำหรับรถม้า โดย เฉพาะเลาะเลียบแม่น้ำวังโดยสมาคมรถม้าลำปางกำหนดค่าโดยสารแน่นอนไว้ 3 อัตรา คือ รอบเมือง เล็ก 150 บาท (25-30 นาที) รอบเมืองกลาง 200-300 บาท (45 นาที-1 ชั่วโมง) รอบเมืองใหญ่ 500 บาท (1.30 - 2 ชั่วโมง) หรือเช่าชั่วโมงละ 300 บาท คิวจอดรถม้าอยู่ที่หน้า ศาลากลางหลังเก่า บริการระหว่างเวลา 05.00-20.00 น. ส่วนบริเวณหน้าโรงแรมทิพย์ช้างลำปาง โรงแรมเวียงลคอร และโรงแรมลำปางเวียงทอง บริการระหว่างเวลา 05.00-21.00 น.

เส้นทางรอบเมืองเล็ก
         
ขึ้นที่ศาลากลางเก่ารถจะเลี้ยวซ้ายตรงสามแยกเข้าถนนทิพย์ช้าง สองฟากถนนมีร้านค้า ที่เป็นตึก แถวเก่าๆ ให้ชมก่อนจะเลี้ยวซ้ายที่สามแยกการไฟฟ้าฯจะเห็นแม่น้ำวังไหลขนาน ไปกับถนนทาง ด้านขวาผ่านห้าแยกหอนาฬิกา ซึ่งเปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางของเมือง นักท่องเที่ยว มักถ่ายภาพ คู่กับรถม้าเป็นที่ระลึกกันที่จุดนี้ จากนั้นรถม้าจะพาเข้าถนนบุญวาทย์ อันเป็นย่านใจกลางธุรกิจการค้า ตึกแถวสองฟากเป็นสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ และมาสิ้นสุดตรงจุดเดิม ใช้เวลา ประมาณ 25 - 40 นาที

เส้นทางรอบเมืองใหญ่


    ขึ้นที่ศาลากลางเก่าเป็นเส้นทางเดียวกับเส้นทางรถม้ารอบเมืองเล็กไปจนถึง สามแยกการ ไฟฟ้าฯ แต่ไม่เลี้ยวซ้ายไปหอนาฬิกาจะตรงไปตามถนนวังขวาเลียบแม่น้ำวัง ผ่านบ้านไม้เก่า ชื่อบ้านบะเก่า ทางด้านซ้ายมือ ผ่านสวนธารณะเขลางค์นคร เลี้ยวซ้ายข้างสวนมาผ่านย่านตลาด อัศวิน ซึ่งเป็นแหล่ง บันเทิงยามค่ำคืนที่คึกคักบนถนนท่าคร่าวน้อยผ่านห้าแยกหอนาฬิกา เข้าถนน บุญวาทย์ และถ้าใช้เวลานาน จะไปที่หลวงพ่อเกษมและวัดเจดีย์ซาว สิ้นสุดทางที่จุดเดิมใช้เวลาประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง

ติดต่อได้ตามที่อยู่ เลขที่ 112/1 ถนนป่าไม้ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง
โทร.                0 5421 9255        ,                0 5422 4166        ,                0 5422 5555         หรือ                08 1881 2847        









วัดศรีชุม


    เป็นวัดพม่าที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาวัดพม่าที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด 31 วัด สร้างในปี พ.ศ. 2433 โดยคหบดีพม่าชื่อ อูโย ซึ่งติดตามชาวอังกฤษเข้ามาทำงานป่าไม้ในประเทศไทย เมื่อตนเองมีฐานะดีขึ้น จึงต้องการทำบุญโดยสร้างวัดศรีชุมขึ้นในเขตตำบลสวนดอก
     จุดเด่นของวัดนี้เดิมอยู่ที่พระวิหาร ซึ่งเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ที่มีศิลปะการตกแต่ง แบบล้านนาและพม่า หลังคาเครื่องไม้ยอดแหลมแกะสลักเป็นลวดลายสวยงามมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าได้เกิดเหตุเพลิงไหม้พระวิหารทั้งหลัง เมื่อตอนเช้าตรู่ของวันที่ 16 มกราคม 2535 คงเหลือเพียงไม้แกะสลักตรงซุ้มประตูทางขึ้นวิหารเท่านั้น เป็นลวดลายพรรณพฤกษา ฉลุโปร่ง      ปัจจุบันวัดได้รับการบูรณะขึ้นใหม่และยังมีชิ้นส่วนเครื่องประดับอาคารที่ถูกไฟไหม้ ไปจัดแสดงไว้ ้ด้านหลังวิหาร วัดศรีชุมได้รับการจดทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2524 การเดินทาง
       
วัดศรีชุมตั้งอยู่ที่ ถนนศรีชุม-แม่วะ ตำบลศรีชุม จากถนนพหลโยธินเมื่อถึงโรงเรียนบุญวาทย์ วิทยาลัยแล้ว เลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกเข้าถนนศรีชุมไปประมาณ 100 เมตร จะพบทางเข้าวัด อยู่ทางด้านขวามือ


วัดศรีรองเมือง
    วัดศรีรองเมือง เป็นวัดพม่าที่มีรูปแบบทางสถาปัตย์กรรม และงานศิลปะต่างๆ แตกต่าง จากวัดทั่ว ๆ ไป วัดนี้กำเนิดในดินแดนที่เมื่อก่อนเต็มไปด้วยป่าสัก และเป็นไม้สักที่ขึ้น ตามธรรมชาติ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบันมีอายุราว 103 ปี สร้างโดยช่างฝีมือจาก พม่าล้วนๆ ซึ่งบางส่วนของจั่วหลังคาได้ถอดแบบมาจากปราสาท เมืองมัณฑเลย์ ประเทศพม่า ก่อสร้างด้วยไม้แบบยกพื้น เรียกว่า วิหารไม ้ มีหลังคาจั่วซ้อนกัน เป็นชั้น ๆ แบบพม่า ประดับด้วยลวดลายโลหะฉลุเป็นเชิงชายเพดาน เสาไม้ในวิหารประดับเป็นลวดลายแกะสลัก ลงรักปิดทอง และติดกระจกสี ซึ่งทำให้ดูเป็นแสงแวววับ ภายในวิหารมีพระพุทธรูปไม้สักองค์ใหญ่ แบบศิลปะพม่า ชื่อว่า พระพุทธรูปบัวเข็ม แกะสลักจากไม้สักขนาดใหญ่ที่ไหลมาตามแม่น้ำวัง และมาติดอยู่ท่าน้ำด้านหลังวัด จึงนำขึ้นมาเก็บรักษาไว้ที่วัด เมื่อข่าวกระจายออกไป ชาวบ้านก็แห่กันมา กราบใหว้บูชา สะดุดตาต่อผู้พบเห็น
    จุดเด่นภายในวิหารวัดศรีรองเมือง ได้แก่ลวดลายต่างๆที่ประดับไปด้วยกระจกสี ซึ่งตอนที่สร้างเสร็จใหม่ๆ จะเห็นประกายแวววับได้ชัดเจนกว่านี้มาก นอกจากนี้เสารูปทรงกลม และเพดานมีการสลักลายเป็นรูปต่าง ๆ อย่างสวยงาม เป็นงานศิลปกรรมแบบพม่าแท้ ๆ ทั้ง วิหารไม้ หลังคาจั่วมีลายฉลุ การแกะสลักพระพุทธรูปไม้ และลวดลายต่างๆภายในวัด มีความวิจิตร เป็นอันมาก

การเดินทาง
     ตั้งหลักที่ห้าแยกหอนาฬิกาแล้วขับรถไปตามเส้นทางที่ออกไปท่าคราวน้อย ต.สบตุ๋ย ในทิศทางเดียวกับไปตลาดอัศวิน ประมาณ 2 กิโลเมตรก็ถึงวัด สังเกตฝั่งตรงข้าม จะเป็นวิทยาลัยเทคนิคลำปาง



วัดปงสนุก      "วัดปงสนุก" แห่งเขลางค์นคร ธรรมสถานหนึ่งเดียวของไทย ที่พึ่งได้รับรางวัล “Award of Merit” จาก UNESCO ในปี 2008 เผยเส้นทางการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม-สถาปัตยกรรมเก่าแก่ ที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศ จากชุมชน-รัฐ

    วัดปงสนุก มีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อ ได้แก่ วัดศรีจอมไคล วัดเชียงภูมิ วัดพะเยา ตามลำดับ ส่วนคำว่า "วัดปงสนุก" นั้นใช้เมื่อยุค เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง ที่มีการกวาดต้อนผู้คน จากเชียงแสน สันนิษฐานว่า เป็นกลุ่มคนจากบ้านปงสนุกที่เชียงแสน (ปัจจุบันยังปรากฏ หลักฐานวัดปงสนุกอยู่ที่ริมแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย)

   วัดปงสนุกได้รับการสันนิษฐานว่า เคยเป็นศูนย์กลางเมืองนคร (หรือเวียงละกอน) สมัยล้านนารุ่งเรือง และมีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ เช่น การดำน้ำชิงเมือง ระหว่างเจ้าฟ้าชายแก้ว และท้าวลิ้นก่าน และในยุครัตนโกสินทร์ที่แห่งนี้ ยังเคยเป็นที่ตั้งของ เสาหลักเมืองหลักแรกของเมืองนครลำปาง ก่อนจะทำการย้ายไปรวมกับเสาหลักเมือง หลักอื่นที่ ศาลหลักเมืองในปัจจุบัน

    วัดปงสนุกเป็นแหล่งรวมของสิ่งสำคัญหลายอย่างที่ทรงคุณค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม มากมาย อาทิ พระพุทธรูปไม้ เสาหงส์ ซุ้มประตูโขง ภาพพระบฎ เขียนเรื่องพระเวสสันดรบนผ้าและกระดาษสา หีบธรรมโบราณ และธงช้างเผือกขนาดใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งทางวัดได้นำมารวมไว้เป็นพิพิธภัณฑ์งานศิลปสถาปัตยกรรมที่สำคัญ อันปรากฏอยู่ที่วัดนี้ได้แก่ พระธาตุศรีจอมไคล และวิหารพระเจ้าพันองค์ ซึ่งในอาคารหลัง จะได้รับการบูรณะอย่างถูกหลักวิชาการ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านปงสนุก
       












ภาพและข้อมูล : http://www.manager.co.th/Local/
ViewNews.aspx?NewsID=9510000136421



วัดม่อนปู่ยักษ์   วัดม่อนปู่ยักษ์ (ม่อนสัณฐาน) ตั้งอยู่บริเวณทิศ ตะวันออกเฉียงใต้ ของตัวเมืองลำปาง ปัจจุบันซึ่งอยู่ทาง ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำวัง พื้นที่ตั้งวัด อยู่บนเนินเขาขนานเล็ก ๆ ไม่สูงนัก ตั้งอยู่เลขที่ 15 ถ.วัดม่อนจำศีล ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง มีเนื้อที่ 15 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา โฉนดเลขที่ 16196 สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย เป็นวัดที่มีรูปแบบศิลปะพม่า เช่นเดียวกับวัดพม่าทั่วไปในล้านนา มีการบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมา อาคารหลักมี 3 หลัง คือ กุฏิไม้ศิลปะพม่า วิหาร , อุโบสถ ก่ออิฐถือปูน
 
    วัดม่อนปู่ยักษ์ ซึ่งน่าจะมีอายุราวกลาง พุทธศตวรรษที่ 24 ในช่วงปี พ.ศ.2425 ถึงสมัยราชกาลที่ 6 ในตำนานกล่าวไว้ว่า ในสมัยพุทธกาลเมื่อครั้งองค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จออกไปโปรดสัตว์ พร้อมด้วยพระอรหันต์เผยแผ่พระพุทธศาสนา มาทางทิศบูรพานั้น ครั้งผ่านมาทางแว่นแคว้นแห่งหนึ่ง ก็ปรากฏมียักษ์อยู่ตนหนึ่ง ขัดขวางการเผยแพร่พุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า และได้ขับไล่พระองค์ผ่านมาทางป่าบ้านพระบาท จนถึงบริเวณป่าม่อนจำศีล ก็มาทันกันที่ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่บนวัดม่อนจำศีล ท่ามกลางพระอรหันต์ ทรงเห็นว่า ยักษ์ตนนั้นน่าจะหยุดทำเช่นนั้นเสียที จึงให้ยักษ์ ตนนั้นเข้าเฝ้าและฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า เกิดอัศจรรย์ใจตนเอง จึงก้มลงกราบแทบพระบาท ด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า จึงขอบำเพ็ญศีลภาวนาที่ม่อนจำศีล ครั้นเวลาล่วงเลยไปไม่นาน ยักษ์ตนนั้นตายลงและได้มาตายที่ม่อนปู่ยักษ์ อันอยู่ไม่ไกลจากม่อนจำศีลมากนัก ในการต่อมาได้มีผู้พบรอยพระพุทธบาท และรอยเท้ายักษ์บริเวณวัดพระบาท ชาวบ้านช่วยกันสร้างวัดขึ้น โดยสร้างวัดคร่อมรอยพระพุทธบาทเพื่อให้ยกสูงขึ้น เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป
     กองพุทธสถานกรมการศาสนาทำหนังสือ “ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักรเล่ม 8” พ.ศ. 2525 บันทึกว่าวัดม่อนปู่ยักษ์ ได้ก่อสร้างเมื่อวันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ.2442 โดย พ่อเฒ่านันตาน้อย พ่อเฒ่านันตาไก่ พร้อมพี่น้องอีก 3 คน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2442 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 14.82 เมตร ยาว 14.82 เมตร อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ แบบอิทธิพลศิลปะตะวันตก ศาลาการเปรียญและกุฏิไม้โบราณศิลปะพม่า ฝาผนังและเสาไม้สัก ประดับลวดลายลงรักปิดทอง เพดานติดกระจกและมีเจดีย์ฝีมือช่างพม่า พระประทานลงปิดทอง

    หลักฐานอ้างอิงอีกประการหนึ่งคือ ในปี พ.ศ.2444 หรือ ค.ศ.1901 เป็นการศึกษาจาก หลักศิลาจารึก เป็นภาษาไทใหญ่คือ วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดย นายจองนันตาแกง มาจากรัฐฉาน ในประเทศพม่า เป็นผู้สร้างวัดสำเร็จเสร็จสิ้นครบรอบ 30 ปี ที่จองนันตาแกง จากบ้านมา ไม่มีใครรำลึกถึงท่านผู้นี้ และไม่มีใครรู้จักเลย ชื่อของผู้อื่นจึงได้รับการบันทึกในหนังสือของทางราชการ ที่ใช้เป็นหนังสืออ้างอิงต่อมา






ภาพและข้อมูล :
กลุ่มอนุรักษ์สถาปัตยกรรม กรมศิลปากร และกลุ่มชุมชนบ้านป่าขาม 2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น