วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่

สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัด เชียงใหม่

อำเภอเมือง ( ในตัวเมือง )

ชุมชนวัดเกตุ เป็นชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออก เกิดจากชนหลายเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน ชาวฝรั่ง และชาวพื้นเมือง สามารถดูได้จากรูปแบบของสถาปัตยกรรม ที่ยังหลงเหลือมาจนถึงในปัจจุบันนี้ มีวัดเกตุการามอยู่ศูนย์กลางระหว่างชุมชน การก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เริ่มขึ้นอย่างจริงจังช่วงหลัง พ.ศ. 2339 หรือหลังการสถาปนาเมืองเชียงใหม่เป็นประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง ก่อนหน้าที่รถไฟจะมาถึงเชียงใหม่ที่นี่เป็นชุมชนที่เป็นท่าน้ำสำคัญของการเดินทางเรือระหว่างกรุงรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพฯ) มายังเมืองเชียงใหม่ และเมืองอื่น ๆ ที่อยู่ทางใต้ลงไป ย่านวัดเกตุจึงเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามความจำเป็นทางเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ในยุคนั้น สถานที่ที่รวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชุมชนนี้อยู่ที่ พิพิธภัณฑ์วัดเกตุ ตั้งอยู่ที่วัดเกตุการาม สิ่งของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ คือ สมบัติเดิมของวัด เช่น ช่อฟ้า ใบระกาซึ่งเป็นไม้แกะสลักจากโบสถ์เดิม ถ้วยชามฝาจีบ ภาชนะต่าง ๆ เป็นต้น พิพิธภัณฑ์เปิดทุกวัน เวลา 08.00-16.00 น.

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ถนนพระปกเกล้า วัดนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่พอดี ประดิษฐานเจดีย์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าแสนเมืองมากษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย (พ.ศ.1913-1954) ต่อมาพระยาติโลกราชโปรดให้ช่างขยายเจดีย์ให้สูงและกว้างกว่าเดิม แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2024 และอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานระหว่าง พ.ศ.2011-2091 นานถึง 80 ปี ต่อมาในสมัยพระนางจิระประภา ได้เกิดแผ่นดินไหวเมื่อ พ.ศ. 2088 ทำให้ยอดเจดีย์หักโค่นลง ปัจจุบันเจดีย์มีความสูงคงเหลือ 40.8 เมตร ฐานกว้างด้านละ 60 เมตร วิหารหลวงของวัดนี้เจ้าคุณอุบาลีคุณปรมาจารย์ (สิริจันทะเถระ) และเจ้าแก้วนวรัฐเป็นผู้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2471 หน้าประตูทางเข้าวิหาร มีบันไดนาคเลื้อยงดงามยิ่ง ใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหาร นาคคู่นี้เป็นฝีมือเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่เดิม ได้ชื่อว่าเป็นนาคที่ สวยที่สุดของภาคเหนือ และในวัดเจีดย์หลวงนี้ยังมี เสาอินทขิล หรือ เสาหลักเมือง สร้างขึ้นเมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราช สร้างเมือง เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1839 ประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทยหลังเล็ก ๆ เสาอินทขิลนี้สร้างด้วยไม้ซุงต้นใหญ่ ฝังอยู่ใต้ดิน ทุกปีในวันแรม 12 ค่ำเดือน 8 (เหนือ) หรือประมาณเดือนพฤษภาคมจะมีงานเรียกว่า เข้าอินทขิล เป็นการฉลองหลักเมือง

วัดแสนฝาง ถนนท่าแพ ซึ่งในสมัยก่อนเป็นย่านการค้าของพ่อค้าชาวพม่า เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งที่มีศิลปะการก่อสร้างแบบพม่า โดยเฉพาะเจดีย์ที่มีการตกแต่งลวดลายปูนปั้นวิจิตรงดงาม นอกจากนี้ยังมีกุฏิเจ้าอาวาสซึ่งสร้างมานานกว่า 100 ปี เป็นจุดที่น่าสนใจอีกด้วย ตามประวัติเล่าว่าพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ให้รื้อที่ประทับของพระเจ้ากาวิโรรสสุริวงศ์ (เจ้าชีวิตอ้าว) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 6 มาสร้างเมื่อ พ.ศ. 2420 ครั้นสร้างเสร็จแล้วจึงโปรดให้มีการฉลองใน พ.ศ. 2421

เวียงกุมกาม เป็นเมืองโบราณที่พญามังราย (พ่อขุนเม็งราย) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1829 มีคูเวียงอยู่ 4 ด้านเพื่อไขแม่น้ำปิงให้ขังไว้ในคูเมือง จากการสำรวจพบว่ามีโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในเวียงกุมกาม และใกล้เคียง 20 แห่ง ทั้งที่เป็นซากโบราณสถาน และเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำวัดอยู่ โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ วัดเจดีย์เหลี่ยม วัดช้างค้ำ วัดน้อย วัดปู่เปี้ย วัดกู่ขาว วัดอีก้าง วัดหัวหนอง และ วัดปู่ซ้ง ปัจจุบันเวียงกุมกาม อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่ ประมาณกิโลเมตรที่ 3-4 ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ (เชียงใหม่-ลำพูน) ในเขตตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี และอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำปิงด้านทิศตะวันออก การเดินทาง เข้าทางตู้ยามหนองหอยและตรงมาจนทะลุแยกเกาะกลางป่ากล้วยตรงต่อไปจนถึงตู้ยามเจดีย์เหลี่ยม วัดเจดีย์เหลี่ยม หรือ เจดีย์กู่คำ ถนนสายเกาะกลางบริเวณเวียงกุมกาม สร้างขึ้นในรัชสมัยของพญามังราย เมื่อ พ.ศ. 1831 กล่าวคือ หลังจากที่พระองค์ได้ยกทัพ มาตี เมืองลำพูนแล้วทรงมอบเมืองลำพูนให้อำมาตย์คนสนิทชื่อ อ้ายฟ้า ครองเมืองแทน ส่วนพระองค์ก็ยกทัพไปสร้างเมืองใหม่ ทางทิศ ตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ได้ 2 ปี จึงยกทัพไปสร้างเมืองใหม่อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำปิง เมื่อ พ.ศ. 1829 ให้ชื่อเมืองนี้ว่าเวียงกุมกาม จนถึง พ.ศ. 1830 พระองค์ทรงให้ช่างไปถ่ายแบบพระเจดีย์มาจากวัดจามเทวีลำพูน เพื่อนำมาสร้างให้เป็นที่สักการะแก่คนทั้งหลาย โดยสร้างเจดีย์องค์นี้ มีฐานกว้าง 8 วา 1 ศอก สูง 22 วา มีพระพุทธรูปบรรจุอยู่ในซุ้มทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 15 องค์ รวม 60 องค์ หลังจาก นั้นมาเป็นเวลาหลายร้อยปี วัดนี้ได้ถูกทอดทิ้งให้รกร้าง จนถึงพ.ศ. 2451 มีคหบดีชาวพม่าคนหนึ่งได้มาเห็นเข้า เกิดความเลื่อมใส ได้ บูรณะขึ้นใหม่ โดยให้ช่างชาวพม่าเป็นผู้ดำเนินการ จึงมีศิลปแบบพม่าเข้ามาแทนที่ศิลปแบบดั้งเดิม คงมีแต่โครงสร้างที่ยังเป็นรูป เดิมอยู่เท่านั้น

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ สายเชียงใหม่-ลำปาง ใกล้ ๆ กับวัดเจ็ดยอด รวบรวมสิ่งของ ที่เกี่ยวกับ ศิลปวัฒนธรรมของภาคเหนือไว้ เช่น พระพุทธรูปสกุลช่างสมัยล้านนาต่าง ๆ และพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน เครื่องไม้แกะสลัก เครื่องถ้วยภาคเหนือ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวล้านนาและชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ภาพถ่ายประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น. หยุดช่วงวันสงกรานต์ และวันปีใหม่ ค่าเข้าชม คนไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท นักเรียน นักศึกษาฟรี

พิพิธภัณฑ์แมลงโลกและสิ่งมหัศจรรย์ธรรมชาติ รวบรวมแมลงชนิดต่าง ๆ จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ด้วง กว่าง ผีเสื้อ ตั๊กแตน นอกจากแมลงแล้ว ยังมีซากพืชและสัตว์ดึกดำบรรพ์ต่าง ๆ และหินสะสมสวยงามประเภทต่าง ๆไว้ด้วย แต่สิ่งที่ทำให้ พิพิธภัณฑ์นี้มีความเป็นพิเศษขึ้นมาอีก คือ เป็นแหล่งรวมยุง ในประเทศไทยสี่ร้อยกว่าชนิด ที่ใช้เวลาสี่สิบกว่าปี ในการรวบรวม เพื่อ งานวิจัยทางการแพทย์ ที่ตั้ง 72 ถนนนิมมานเหมินทร์ ซอย 13 (ศิริมังคลาจารย์ ซอย 3) ตำบลสุเทพ

วัดสวนดอก หรือ วัดบุปผาราม ถนนสุเทพ พญากือนาทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1914 (ศักราชนี้ถือตามหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ของพระรัตนปัญญาเกตุ) เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของพระมหาเถระสุมน ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในล้านนา วัดนี้แต่เดิมเป็นพระราชอุทยานของกษัตริย์ล้านนาไทยสมัยแรกเริ่ม มีสถาปัตยกรรมสำคัญ คือ เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงกลม กู่บรรจุอัฐิเจ้าตระกูล ณ เชียงใหม่ และวิหารโถง นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าเก้าตื้อ ซึ่งพญาเมืองแก้วโปรดให้หล่อขึ้น เป็นพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ ศิลปะล้านนาผสมกับศิลปะสุโขทัย
เส้นทางสายตะวันตก เส้นทางเชียงใหม่-ดอยสุเทพ ทางหลวงหมายเลข 1004

สวนรุกขชาติห้วยแก้ว เป็นที่รวบรวมพันธุ์ไม้นานาชนิดไว้ศึกษา เป็นสถานที่ร่มรื่น เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนและยังมีสวนสุขภาพ สำหรับออกกำลังกาย ตั้งอยู่ถัดจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทางขึ้นดอยสุเทพ

สวนสัตว์เชียงใหม่ ถนนห้วยแก้ว ห่างจากตัวเมืองประมาณ 5 กิโลเมตร ใกล้กับสวนรุกขชาติ เป็นสวนสัตว์ขนาดใหญ่ มีสัตว์มากมาย หลายชนิด ทั้งที่มีอยู่ในเมืองไทยและนำมาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก มีหมีแพนด้า ฑูตสันถวไมตรีเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-จีน อุทยานสัตว์น้ำ 700 ปีศรีนครพิงค์ สวนนกเพนกวินและสวนนกฟิ้นช์ ซึ่งเป็นนกขนาดเล็ก มีสีสันสวยงามจนได้รับการขนานนามว่าเป็น อัญมณีบินได้ มีสวนอาหาร เต็นท์ แคมปิ้งไว้บริการ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 8.00-18.00 น. เปิดขายบัตรถึงเวลา 17.00น. นอกจากนั้นยังมี ทัวร์ชมสัตว์ป่ายามค่ำคืน Twilight Zooโดยรถยนต์นำชมพฤติกรรมสัตว์ต่าง ๆ ที่ออกหากินยามกลางคืน พร้อมวิทยากรบรรยายให้ความรู้ ตั้งแต่เวลา 18.30-21.00 น.

อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ตั้งอยู่ตรงทางขึ้นดอยสุเทพ ก่อนถึงน้ำตกห้วยแก้ว ครูบาศรีวิชัยเป็นนักบุญแห่งล้านนาไทย ผู้เป็นที่เคารพ ศรัทธาของชาวเชียงใหม่และประชาชนโดยทั่วไป ผู้ที่จะขึ้นไปดอยสุเทพ มักจะแวะนมัสการอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยเพื่อความ เป็น สวัสดิมงคล ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้ริเริ่มชักชวนให้ประชาชนชาวเหนือร่วมแรงร่วมใจกันสร้างถนนจากเชิงดอย ขึ้นไปสู่ วัดพระบรมธาตุ ดอยสุเทพ โดยเริ่มลงมือ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 และแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2478 รวมระยะทาง 10 กิโลเมตร

วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร เดินทางตามถนนห้วยแก้ว ผ่านอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ไปตามทางคดเคี้ยวขึ้นเขา ระหว่างทางจะมองเห็นตัวเมืองเชียงใหม่อยู่เบื้องล่าง ระยะทางจากเชิงดอยถึงวัดประมาณ 11 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง วัดพระธาตุดอยสุเทพนี้เป็นปูชนียสถานคู่เมืองเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางมาที่จังหวัดนี้จะต้องขึ้นไปนมัสการพระบรมธาตุ กันทุกคน หากใครไม่ได้ขึ้นไปนมัสการแล้ว ถือเสมือนว่ายังมาไม่ถึงเชียงใหม่ มีงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุในวันเพ็ญวิสาขบูชาทุกปี นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นบันไดนาคไป 300 ขั้น เพื่อไปยังวัด หรือใช้บริการรถกระเช้าขึ้น-ลงดอยสุเทพได้ ระหว่างเวลา 05.30-19.30 น. นักท่องเที่ยวที่ไม่มีรถส่วนตัวสามารถเดินทางมาที่วัดโดยรถสองแถวประจำทางจากบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้านถนนห้วยแก้ว ซึ่งบริการระหว่างเวลาประมาณ 05.00-17.00 น.

อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย มีพื้นที่ประมาณ 262.50 ตารางกิโลเมตร หรือ 163,162.50 ไร่ครอบคลุมพื้นที่อำเภอแม่ริม อำเภอหางดง และอำเภอเมือง

พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จากวัดพระธาตุดอยสุเทพไปยังพระตำหนักฯ ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นพระตำหนักประทับ แปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2505 ตั้งอยู่บนดอยบวกห้า โดยปกติแล้วจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมทุกวัน ทั้งนี้จะต้องเป็นช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มิได้เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ซึ่งปกติจะปิดในช่วงเวลาตั้งแต่ประมาณกลางเดือนธันวาคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์

เชียงใหม่ไนท์ ซาฟารี ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ตำบลแม่เหียะและตำบลสุเทพ อำเภอเมืองและตำบลหนองควาย อำเภอหางดง พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 819 ไร่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นสวนสัตว์กลางคืนที่มีความสมบูรณ์ ์พร้อม มีบริการรถรับ-ส่งเพื่อชื่นชมสัตว์ป่าในบรรยากาศต่าง ๆ เช่น ทุ่งหญ้าสวันนา ชมช้าง ยีราฟ ม้าลาย ด้วยรถลากเปิดโล่ง หรือ ระทึกใจในการนั่งรถชมสัตว์ดุร้ายอย่างใกล้ชิด เช่นสิงโต หมีควาย เสือ ไฮยันนา และจระเข้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังจัดเส้นทางเดินชมสัตว์ป่าในบรรยากาศสวยงามริมฝั่งทะเลสาบ แวดล้อมด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ สัตว์พบเห็นได้แก่ หมีขอ สมเสร็จบราซิล ฮิปโปแคระ แมวดาว หมูน้ำ และนกฟลามิงโก้ เป็นต้น การเดินทาง จากตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามถนนห้วยแก้ว เลี้ยว ซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 121 ทางไปอำเภอหางดง ประมาณ 10 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาอีกประมาณ 2 กิโลเมตร เปิดบริการ เวลา 10.00 – 24.00
เส้นทางสายตะวันตกเฉียงใต้ เส้นทางเชียงใหม่ – ฮอด ทางหลวงหมายเลข 108


อุทยานแห่งชาติออบขาน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 484 ตารางกิโลเมตร หรือ 302,500 ไร่ครอบคลุมพื้นที่อำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ สะเมิง หางดง แม่วาง และสันป่าตอง ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินปูนและหินอัคนี ประกอบด้วยป่าประเภทต่าง ๆ ได้แก่ ดิบเขา สนเขา ดิบแล้ง เบญจพรรณ และ เต็งรัง เป็นต้นกำเนิดน้ำแม่วาง น้ำแม่วิน และน้ำแม่ขาน และที่นี่เป็นแหล่งที่พบเอื้องมณีไตรรงค์แห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งจะบานในช่วงเดือนมกราคม
สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ ได้แก่ ออบขาน ห้วยหญ้าไซ ห้วยโป่งผาลาย น้ำตกขุนป๋วย น้ำตกแม่เตียน ถ้ำดอยโตน น้ำพุร้อนแม่โต๋ น้ำตกมรกต น้ำตกแม่มูด น้ำตกขุนวิน น้ำตกแม่วาง และ ถ้ำตั๊กแตน และมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ

วัดพระธาตุดอยน้อย ตำบลดอยหล่อ อำเภอจอมทอง ตามทางหลวงหมายเลข 108 ระหว่างกิโลเมตรที่ 43-44 หากมาจากเชียงใหม่ ่จะอยู่ฝั่งซ้ายมือ ตามประวัติว่าสร้างโดยพระนางจามเทวี เมื่อ พ.ศ. 1201 โบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ พระบรมธาตุ โข่งพระ (กรุพระ) โบสถ์ วิหาร และพระพุทธรูปหินอ่อนแกะสลัก ทั้งองค์เล็กองค์ใหญ่มากมาย บริเวณวัดตั้งอยู่บนภูเขาติดลำน้ำปิง มองเห็นทิวทัศน์โดยรอบทุกทิศ มีบันไดนาคขึ้นไป 241 ขั้น
เส้นทางหางดง-สะเมิง-แม่ริม ทางหลวงหมายเลข 1269

โครงการหลวงห้วยผักไผ่ (ทุ่งเริง) บ้านแม่ฮะ ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง สามารถเดินทางจากเชียงใหม่ได้สองทาง คือ ตามทางสายเชียงใหม่-แม่ริม-สะเมิง-หางดง ระยะทาง 32 กิโลเมตร และเส้นทางสายเชียงใหม่-หางดง-สะเมิง ระยะทาง 43 กิโลเมตร พันธุ์ไม้ที่ปลูกคือ กุหลาบหนูที่จะปลูกกันทั้งปี และยังมีผักยอดซาโยเต้ ลูกฟักแม้ว มะเขือม่วงก้านเขียว ถั่วแขก และมะระขาว เป็นต้น

วัดต้นแกว๋น (วัดอินทราวาส) บ้านต้นแกว๋น ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง เป็นวัดเก่าแก่ที่มีลักษณะงดงามมาก สิ่งที่น่าสนใจ คือศาลาจัตุรมุขซึ่งพบเพียงหลังเดียวในภาคเหนือ นอกจากนี้ ศิลปกรรมล้านนาดั้งเดิมภาย ในวัดนี้ยังจัดว่า เป็นต้นแบบที่สมบูรณ์ ์และมีคุณค่ามาก สมาคมสถาปนิกสยามประกาศให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นเมื่อพ.ศ. 2532
เส้นทางจอมทอง-ดอยอินทนนท์-แม่แจ่ม ทางหลวงหมายเลข 1009

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) หมู่ที่ 10 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง เป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัย เกษตรหลวงเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในวงล้อมของแนวเทือกเขาอินทนนท์ เหมาะสำหรับผู้ต้องการศึกษาธรรมชาติ หรือท่องเที่ยวเชิงการเกษตร มีพันธุ์ไม้เมืองหนาวนานาชนิดที่พร้อมใจกันออกดอกบานสะพรั่งยามหน้าหนาว ออกผลเต็มต้นให้เด็ดชิมในฤดูร้อน และยังมีนกในเทือกเขาอินทนนท์นานาชนิดให้ศึกษา รวมทั้งมีทิวทัศน์ที่เขียวชอุ่มโอบล้อมโดยรอบด้วยไม้ใหญ่เปลี่ยนสีสันตามฤดูกาล

สถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง บ้านม้งขุนแม่วาง หมู่ที่ 6 ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม พืชพันธุ์ที่นำมาวิจัยที่นี่ต่างมี ฤดูกาลติดดอก และพักตัวผลัดเปลี่ยนกันตลอดทั้งปี ไม่ว่าวันหยุดพักผ่อนจะเป็นเดือนไหน เมื่อมาที่นี่เป็นไม่เสียเที่ยว เพราะถึง จะพลาดชมความงามของดอกซากุระ นักท่องเที่ยวก็จะได้ชิมสตรอว์เบอร์รี่ปลอดสารพิษสดจากไร่แทน หรือ ถ้ามาไม่ทันช่วงท้อติดผล ก็จะได้เห็นความงามของดอกสาลี่สีขาว และไม้ดอกเมืองหนาวนานาพันธุ์พร้อมกับนั่งจิบชาทอดอารมณ์ ชมวิวบนยอดดอย ยิ่งบนดอยสูงอย่างที่แม่จอนหลวงนี้มีการปรับแต่งพื้นที่แบบขั้นบันได ช่วยขยายมุมมองทัศนียภาพโดยรอบได้กว้างยิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่ นิยมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร หากได้มาเยือนที่นี่คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะซึมซับความรู้ในงานวิชาการและความงามทางธรรมชาติ กลับบ้านไปพร้อมกัน

วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร จากตัวเมืองเชียงใหม่มุ่งหน้าไปตามถนนสายเชียงใหม่-ฮอด 58 กิโลเมตร เป็นวัดสำคัญคู่เมืองจอมทองและเป็นที่เคารพสักการะของชาวเหนือโดยทั่วไป ประเพณีเด่นของวัดคือ “การแห่ไม้ค้ำโพธิ์” ซึ่งเป็นประเพณีของชาวล้านนาที่ถือว่าการเอาไม้มาค้ำโพธิ์เป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ แต่เดิมดอยอินทนนท์มีชื่อว่า “ดอยหลวง” หรือ “ดอยอ่างกา” ดอยหลวง หมายถึงภูเขาที่มีขนาดใหญ่ ส่วนที่เรียกว่าดอยอ่างกานั้น มีเรื่องเล่าว่า ห่างจากดอยอินทนนท์ไปทางทิศตะวันตก 300 เมตร มีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งลักษณะเหมือนอ่างน้ำ แต่ก่อนนี้มีฝูงกาไปเล่นน้ำกันมากมาย จึงเรียกว่า อ่างกา ต่อมาจึงรวมเรียกว่า ดอยอ่างกา

น้ำตกแม่กลาง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ชั้นเดียว สูงประมาณ 100 เมตร ต้นน้ำอยู่บนดอยอินทนนท์ มีน้ำไหลตลอดปี มีความสวยงามตามธรรมชาติ การเดินทาง จากทางแยกเข้าทางหลวง 1009 ไปอีก 8 กิโลเมตร แยกซ้าย 500 เมตร เป็นทางลาดยางตลอด

น้ำตกวชิรธาร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เดิมชื่อ “ตาดฆ้องโยง” น้ำจะดิ่งจากผาด้านบนตกลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง ในช่วงที่มีน้ำมาก ละอองน้ำจะสาดกระเซ็นไปทั่วบริเวณรู้สึกได้ถึงความเย็นและชุ่มชื้น และสะพานไม้ที่ทอดยาว เข้าไปหาหน้าผานั้นจะเปียกลื่น อยู่ตลอดเวลา แต่หากเดินเข้าไปจนสุดจะได้สัมผัสกับความงามของน้ำตกมากที่สุด

พระมหาธาตุนภเมทนีดล และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ตรงหลักกิโลเมตรที่ 41.5 ทางด้านซ้ายมือ สร้างขึ้นโดยกองทัพอากาศ ร่วมกับพสกนิกรชาวไทย โดยพระมหาธาตุนภเมทนีดล สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาส ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อพ.ศ. 2530 และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ สร้างถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อพ.ศ. 2535 พระมหาธาตุทั้ง 2 องค์นี้ มีรูปทรงคล้ายคลึงกัน คือ ฐานเป็นรูป 12 เหลี่ยม มีระเบียงแก้วโดยรอบเป็น 2 ระดับ ยอดปลีขององค์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปบูชา รอบบริเวณ สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของดอยอินทนนท์ได้อย่างสวยงาม
เส้นทางศึกษาธรรมชาติบนดอยอินทนนท์

กิ่วแม่ปาน
ทางเข้าอยู่กิโลเมตรที่ 42 ด้านซ้ายมือ ระยะทางเดิน 3 กิโลเมตร เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติแท้จริง ระหว่างทางเดินจะพบป่าดิบเขา (Hill Evergreen) ก่อนผ่านเข้าสู่ทุ่งหญ้าซึ่งเคยเป็นพื้นที่ป่าถูกทำลาย เพื่อเป็นการศึกษาลักษณะการเกิดผลกระทบต่อเนื่องบริเวณรอยต่อระหว่างพื้นที่ป่าสมบูรณ์กับพื้นที่ถูกทำลาย หลังจากนั้นทางเดินจะเลาะริมผามีไอหมอกปลิวผ่านตลอดเวลา จะพบดอกกุหลาบพันปี หรือ Rhododendron (ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ขึ้นตามป่าในระดับสูง มีพันธุ์ดอกสีขาวและสีแดง เวลาออกดอกช่วงแรกมีลักษณะเหมือนปลีกล้วย ก่อนที่จะบานเต็มต้นในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ พบมากในแถบเทือกเขาหิมาลัยและเป็นไม้ประจำชาติของเนปาลด้วย) มองลงไปยังเบื้องล่างจะพบทัศนียภาพที่งดงามของอำเภอแม่แจ่ม

อ่างกาหลวง
เส้นทางนี้สำรวจวางแนวและออกแบบเส้นทางเดินโดย คุณไมเคิล แมคมิลแลน วอลซ์ ส้นทางนี้มีระยะทาง 1,800 เมตร พื้นที่นี้เป็นหนองน้ำซับในหุบเขา จุดเด่นที่น่าสนใจ คือ ป่าดิบเขาระดับสูง ลักษณะของพรรณไม้เขตอบอุ่นผสมกับเขตร้อน ที่พบเฉพาะในระดับสูง การสะสมของอินทรียวัตถุในป่าดิบเขา ลักษณะอากาศเฉพาะถิ่น
อำเภอแม่แจ่ม

หมู่บ้านทอผ้าซิ่นตีนจก อยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่แจ่มไปประมาณ 3 กิโลเมตร ชาวบ้านที่ตำบลนี้นิยมทอผ้าซิ่นตีนจกกันมาก ซึ่งทำกันถึง 150 ครอบครัว และแต่ละบ้านจะมีเครื่องทออยู่ใต้ถุนบ้าน ผลิตภัณฑ์พื้นเมืองชนิดนี้เป็นที่นิยมอย่างสูง เพราะมีความ สวยสดงดงามและลวดลายที่ออกมามีเอกลักษณ์เฉพาะ

วัดป่าแดด ตำบลท่าผา สิ่งที่น่าสนใจ คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหาร ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ วาดโดยช่างแต้มชาวไทยใหญ่ เป็นเรื่องพุทธประวัติ และชาดกต่าง ๆ วิหารหลังนี้สร้างขึ้น พร้อมกับการสร้างวัด เมื่อ ประมาณ พ.ศ. 2400

อุทยานแห่งชาติออบหลวง ออบหลวงเป็นสถานที่น่าเที่ยวที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ความสวยงามและน่ากลัวไว้ในจุดเดียวกัน กล่าวคือ เบื้องล่างเป็นแม่น้ำที่ไหลคดเคี้ยวผ่านช่องเขาขาดตรงออบหลวง ช่องเขานี้มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันและแคบมาก บีบทางน้ำไหล ดังนั้น แม่น้ำตรงนี้จึงเชี่ยวจัด เสียงน้ำกระทบหน้าผาดังสนั่น รอบ ๆ บริเวณงดงามไปด้วยหมู่ไม้น้อยใหญ่ ร่มรื่นอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีสะพานเชื่อมช่องเขาขาดสำหรับนักท่องเที่ยวยืนชมความงดงามของทัศนียภาพออบหลวง และภายในบริเวณอุทยานฯ มีแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ด้วย

สถานีทดลองปลูกพรรณไม้บ่อแก้ว (สวนสนบ่อแก้ว) อยู่บนเส้นทางสายฮอด-แม่สะเรียง กิโลเมตรที่ 36 สถานีฯเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจวัตถุดิบเพื่อทำเยื่อกระดาษ เป็นแปลงทดลองปลูกพืชจำพวกสน และยูคาลิปตัส ในเนื้อที่ทั้งหมด 2,072 ไร่ อากาศของที่นี่ชื้นและเย็นตลอดปี งามด้วยทิวสนที่ปลูกอย่างเป็นระเบียบงามตาจึงทำให้บริเวณสถานี ีกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมแห่งหนึ่ง

อุทยานแห่งชาติแม่โถ มีพื้นที่ประมาณ 990 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอฮอด และ อำเภอแม่แจ่ม ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน โดยมีดอยกิ่งไร่ม้งเป็นยอดเขาสูงสุด มีความสูง 1,715 เมตร จากระดับน้ำทะเล เทือกดอยเหล่านี้ปกคลุมด้วยป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง เป็นแหล่งต้นน้ำของ ลำน้ำแม่แจ่ม และลำน้ำแม่ลิด สำหรับสัตว์ป่ายังคงพบเลียงผา เก้ง หมีควาย หมูป่า รวมทั้งนกนานาชนิด

ดอยม่อนจอง ขึ้นอยู่กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และ อำเภอสามเงา จังหวัดตาก สิ่งที่ดึงดูดให้นักท่องไพรมายังดอยม่อนจองก็คือ กวางผาหรือม้าเทวดาซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่ที่นี่ และทิวทัศน์ที่สวยงามของทิวเขา และถ้ามาในเดือนธันวาคม-มกราคมจะได้พบดอกกุหลาบพันปีที่กำลังบาน ว่ากันว่าต้นนี้เป็นต้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นกหายากที่พบที่นี่ ได้แก่ เหยี่ยวนกเขาท้องขาว นกอินทรีแถบปีกดำ นกอินทรีเล็ก นกเปล้าท้องขาว นกมุ่นรกคอแดง นกเดินดงคอดำ เป็นต้น


เส้นทางสายเหนือ เส้นทางเชียงใหม่-ฝาง ทางหลวงหมายเลข 107


พิพิธภัณฑ์
- พิพิธภัณฑ์ชาวเขา
- พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย
- พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์
- บ้านควายไทย

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติศรีลานนา เป็นเขื่อนที่กรมชลประทานสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2520 เสร็จในพ.ศ. 2528 ตั้งอยู่ที่หลักกิโลเมตรที่ 41 บนทางหลวงหมายเลข 107 สายเชียงใหม่-ฝาง เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 11 กิโลเมตร อยู่ในเขตอำเภอแม่แตง มีที่พักและร้านอาหารบนเรือนแพไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว

สถานีวิจัยเกษตรที่สูงป่าเกี๊ยะดอยเชียงดาว เป็นหน่วยงานของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ในทำเลที่มองเห็นเทือกดอยหลวงเชียงดาวได้อย่างชัดเจนและสวยงาม มีนกหลายชนิดที่เห็นอยู่ตลอด เช่น นกเขียวก้านตองสีส้ม นกติ๊ดใหญ่ นกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่ นกกะรองทองแก้มขาว และ อีกหลายชนิด

ถ้ำเชียงดาว อยู่ในเขตอำเภอเชียงดาว การเดินทาง จากเชียงใหม่ไปยังอำเภอเชียงดาว ระยะทาง 72 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายตรงทางแยกเข้าไปจนถึงถ้ำอีก 5 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยางจนถึงบริเวณถ้ำ มีบริเวณจอดรถกว้างขวาง ทางเข้าถ้ำเป็นบันไดมีหลังคามุงสังกะสี หน้าถ้ำมีธารน้ำไหลผ่านเต็มไปด้วยปลาหลายชนิด นักท่องเที่ยวสามารถให้อาหารปลาได้ หากต้องการชมบริเวณถ้ำ ติดต่อคนนำทางได้บริเวณหน้าถ้ำ

ดอยเชียงดาว อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว อำเภอเชียงดาว ยอดสูงสุดของดอยเชียงดาว เรียกว่า ดอยหลวงเชียงดาว (เพี้ยนมาจากคำที่ชาวบ้านในละแวกเปรียบเทียบดอยนี้ว่าสูง "เพียงดาว") มีลักษณะเป็นภูเขาหินปูนรูปกรวยคว่ำสูง 2,195 เมตร จากระดับน้ำทะเล นับเป็นยอดดอยที่สูงอันดับ 3 ของประเทศรองจากดอยอินทนนท์และผ้าห่มปก จากบนยอดดอยซึ่งเป็นที่ราบแคบ ๆ สามารถมองเห็นทัศนียภาพอันงดงามรอบด้าน คือ ทะเลหมอกด้านอำเภอเชียงดาว ดอยสามพี่น้อง เทือกดอยเชียงดาว ตลอดจนถึงยอดดอยอินทนนท์อันไกลลิบ อากาศเย็น ลมแรง การเข้าไปใช้พื้นที่ต้องทำหนังสือขออนุญาตถึงผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ อย่างน้อย 15 วัน ก่อนการเดินทาง

อุทยานแห่งชาติเชียงดาว ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง และอำเภอไชยปราการ พื้นที่ทั้งหมด 1,155 ตารางกิโลเมตร จึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำปิง สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ น้ำตกศรีสังวาลย์ ต้นกำเนิดแม่น้ำปิง บ่อน้ำร้อนโป่งอาง

โครงการหลวงห้วยลึก ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว ไปตามถนนสายเชียงใหม่-ฝาง ประมาณกิโลเมตรที่ 95 เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 200 เมตร โครงการนี้ดำเนินการจัดพื้นที่ทำกินให้แก่ชาวเขาเผ่าแม้ว กะเหรี่ยง และคนเมืองในบริเวณพื้นที่ โดยทำการส่งเสริม วิจัย และเพาะพันธุ์ให้แก่เกษตรกร ผลิตผล

ดอยอ่างขาง บนทางหลวงหมายเลข 107 สายเชียงใหม่-ฝาง ประมาณกิโลเมตรที่ 137 จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าบ้านยางที่ตลาดแม่ข่า เข้าไปอีกประมาณ 25 กิโลเมตร เป็นทางลาดยาง สูงและคดเคี้ยว ต้องใช้รถสภาพดีและมีกำลังสูง คนขับชำนาญ หรือจะหาเช่ารถสองแถวได้ที่ตลาดแม่ข่า อากาศบนดอยหนาวเย็นตลอดปีโดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม อากาศเย็นจนน้ำค้างกลายเป็นน้ำค้างแข็ง นักท่องเที่ยวจึงควรเตรียมเครื่องกันหนาวมาให้พร้อม เช่น หมวก ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อกันหนาว สถานที่น่าสนใจบนดอยมีหลายแห่ง ได้แก่ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สวนบอนไซ หมู่บ้านคุ้ม จุดชมวิวกิ่วลม เป็นต้น

อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 524 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนของทิวเขาผีปันน้ำ มีความสูงตั้งแต่ 400-2,285 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีดอยสำคัญได้แก่ ดอยผ้าห่มปก

วัดท่าตอน เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขาต่อเนื่องกันหลายลูก มีเนื้อที่กว่า 400 ไร่ อยู่ติดริมแม่น้ำกก เป็นวัดเก่าแก่ และเป็นสถาบันการศึกษาสำหรับพระภิกษุ สามเณร และเยาวชน เป็นศูนย์บำบัดยาเสพติด และสงเคราะห์ชาวเขา และเนื่องในวโรกาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์เป็นปีที่ 50 ทางวัดได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างเจดีย์แก้ว เฉลิมพระเกียรติ ิไว้บนยอดเขา เป็นวัดที่มีทิวทัศน์งดงามด้านบนมีจุดชมวิวซึ่งจะมองเห็นชุมชน ทุ่งนา และแม่น้ำกกไหลคดเคี้ยวอยู่เบื้องล่าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น