วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

แหล่งท้องเที่ยวจังหวัดเชียงราย

                                     

สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัด เชียงราย

อำเภอเมือง

อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช อยู่ที่ห้าแยกพ่อขุน พ่อขุนเม็งรายเป็นกษัตริย์องค์ที่ 25 แห่งราชวงศ์ลัวะจังคราช เป็นโอรสของพญาลาวเม็ง และพระนางเทพคำขยาย หรือพระนางอั้วมิ่งจอมเมือง ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน พุทธศักราช 1782 เสด็จสวรรคตที่เมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ.1854 พ่อขุนเม็งรายได้สร้างเมืองเชียงรายขึ้นบนดอยทอง จากรากฐานเดิมที่เคยเป็นเมืองมาก่อน เมื่อ พ.ศ.1805 ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ แห่งราชวงศ์เม็งราย และรวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยเข้าเป็นอาณาจักรล้านนาไทยจนเจริญรุ่งเรืองถึงปัจจุบัน

วัดพระสิงห์ ถนนท่าหลวง ใกล้ศาลากลางจังหวัด เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์องค์ที่ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน ตามประวัติเล่าว่า เจ้ามหาพรหมพระอนุชาของพระเจ้ากือนา กษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเมืองกำแพงเพชร พระเจ้า กือนาได้โปรดฯ ให้ประดิษฐานไว้ ณ เมืองเชียงใหม่ ต่อมาพระเจ้ามหาพรหมทูลขอยืมพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานไว้ที่เมืองเชียงรายเพื่อหล่อจำลอง แต่เมื่อสิ้นบุญพระเจ้ากือนาและพระเจ้าแสนเมือง ราชนัดดาของพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ เจ้ามหาพรหมคิดจะชิงราชสมบัติ จึงยกกองทัพจากเชียงรายไปประชิดเมืองเชียงใหม่ แต่เจ้าแสนเมืองก็สามารถป้องกันเมืองได้อีก ทั้งยกทัพตีทัพเจ้ามหาพรหมมาถึงเชียงราย และครั้งนี้เองที่ทรงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์คืนกลับไปประดิษฐานอยู่ที่วัดพระสิงห์เชียงใหม่สืบมา วัดพระสิงห์แห่งนี้ยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองบนแผ่นศิลา สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าเม็งรายมหาราช นอกจากนั้นบานประตูยังออกแบบโดย คุณถวัลย์ ดัชนี บอกเรื่องราวเกี่ยวกับดิน น้ำ ลม ไฟ แกะสลักโดยฝีมือช่างชาวเชียงราย

วัดพระแก้ว ถนนไตรรัตน์ เป็นวัดที่ค้นพบพระแก้วมรกต หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระแก้ว กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ตามประวัติเล่าว่าเมื่อ พ.ศ. 1897 ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่นั้น ฟ้าได้ผ่าเจดีย์ร้างองค์หนึ่ง และได้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทองอยู่ภายในเจดีย์ ต่อมารักกะเทาะออกจึงได้พบว่าเป็นพระพุทธรูปสีเขียวสร้างด้วยหยก คือพระแก้วมรกตนั่นเอง ปัจจุบันชาวเชียงรายได้สร้างพระแก้วมรกตองค์ใหม่ขึ้นแทน เรียกว่าพระหยกเชียงราย หรือ พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล ซึ่งสร้างขึ้นในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระชนมายุ ครบ 90 พรรษา

วัดร่องขุ่น บ้านร่องขุ่น ริมถนนพหลโยธินกิโลเมตรที่ 816 ออกแบบและก่อสร้างโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ พระอุโบสถตกแต่งด้วยลวดลายกระจกสีเงินแวววาว เป็นเชิงชั้นลดหลั่นกันไป หน้าบันประดับด้วยพญานาค มีงวงงาดูแปลกตา น่าสนใจมาก โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ

จุดท่องเที่ยวจากเชียงราย-ท่าตอน บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร, วนอุทยานโป่งน้ำร้อนห้วยหมากเลี่ยม มีบ่อและห้องอาบน้ำแร่ ที่กางเต็นท์, บ้านมูเซอผามูบและมูเซอจะคือ, บ้านกะเหรี่ยงเมืองงาม, ไทยใหญ่บ้านใหม่, อาข่าบ้านแม่สลัก, พระธาตุสบฝาง และบ้านท่าตอน นั่งเรือประมาณ 1 ชั่วโมง

ไร่แม่ฟ้าหลวง อยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์อูปคำไปอีก 1 กิโลเมตร เดิมใช้จัดงานไหว้สาแม่ฟ้าหลวง เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งและสวนไม้ดอกไม้หอมหายากนานาชนิด มีหอคำซึ่งเป็นอาคารไม้สักที่รวบรวมสัตภัณฑ์หรือเชิงเทียนโบราณและเป็นที่ประดิษฐานพระพราโต้ พระไม้โบราณ เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-18.00 น. ค่าเข้าชม คนไทย 150 บาท ต่างชาติ 200 บาท

น้ำพุร้อนโป่งพระบาท จากตัวเมืองประมาณ 7 กม. ถึง กม.ที่ 836-837 ถ.พหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าไปซอยข้างตลาดบ้านดู่อีก 3 กม. บริการห้องอาบ/แช่น้ำพุร้อน จำนวน 10 ห้อง ราคาคนละ 20 บาท บริหารงานโดยองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดู่ โทร.0 5370 3262 นอกจากนี้บริเวณดังกล่าวยังมีน้ำตกโป่งพระบาท ตั้งอยู่ในเขตวนอุทยานโป่งพระบาท เป็นน้ำตกที่มีลักษณะเป็นแก่งหิน มีความลาดชันไม่มากนัก มีลักษณะการไหลที่ลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ ลงมา ภายใต้สภาพอากาศอันร่มรื่น สถานที่โดยรอบประกอบด้วยพรรณไม้สวยงาม เหมาะสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนและเที่ยวชมความงามทางธรรมชาติ

อำเภอแม่จัน

น้ำพุร้อนป่าตึงหรือน้ำพุร้อนห้วยหินฝน จากสามแยกแม่จัน ไปตามถนนหมายเลข 1089 แม่จัน-ท่าตอน ประมาณ 7 กม. ในเขตตำบลป่าตึง บนเนื้อที่เกือบ 10 ไร่ โดยมีบ่อน้ำพุร้อนขึ้นหลายจุด บางจุดพุ่งขึ้นสูงถึง 7 เมตร น้ำพุร้อนนี้เป็นน้ำร้อนที่ไหลขึ้นมาสม่ำเสมอ

ลานทองอุทยานวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง ตั้งอยู่กิโลเมตรที่ 13 บนทางหลวงหมายเลข 1089 สายแม่จัน-ท่าตอน ห่างจากตัวเมืองเชียงราย 42 กิโลเมตร มีเนื้อที่กว่า 400 ไร่ จัดเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมแสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นหุบเขา และลำห้วยขุนน้ำแม่จัน มีอุทยานไม้ดอกไม้ประดับนานาพันธุ์ ห้อมล้อมด้วยไร่ชา และสวนดอกท้อ บนเนื้อที่กว่า 400 ไร่ แสดงศิลปวัฒนธรรมจากประเทศไทย ลาว จีน(ตอนใต้) พม่า เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมรับประทานอาหารเที่ยงเวลา 12.00-13.00 น. คนละ 350 บาท จัดแสดงรอบพิเศษไม่ต่ำกว่า 30 คน เวลา 18.00-19.00 น. คนละ 380 บาท

อำเภอแม่ฟ้าหลวง

ดอยแม่สลอง เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านสันติคิรี เดิมชื่อบ้านแม่สลองนอก เป็นชุมชนผู้อพยพจากกองพล 93 ซึ่งอพยพจากประเทศพม่าเข้ามาในเขตไทย จำนวนสองกองพันคือ กองพันที่ 3 เข้ามาอยู่ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และกองพันที่ 5 อยู่ที่บ้านแม่สลองนอก ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ในเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ดอกนางพญาเสือโคร่ง ซึ่งเป็นซากุระพันธุ์ที่เล็กที่สุด สีชมพูอมขาว จะบานสะพรั่งตลอดแนวทางขึ้นดอยแม่สลอง เป็นพันธุ์ไม้ที่หาชมได้ยากในเมืองไทย เพราะเจริญเติบโตอยู่แต่เฉพาะในภูมิอากาศหนาวจัดเท่านั้น การเดินทาง ใช้เส้นทางเชียงราย-แม่จัน เลยจากอำเภอแม่จันไป 1 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายไป 12 กิโลเมตร ถึงศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา เลยจากศูนย์ฯ ไปอีก 11 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านผาเดื่อ ซึ่งเป็นจุดแวะชมและซื้อหัตถกรรมชาวเขา จากนั้นเดินทางจากบ้านเย้าถึงบ้านอีก้อสามแยก ทางขวาไปหมู่บ้านเทอดไทย ส่วนแยกซ้ายไปดอยแม่สลอง ระยะทาง 18 กิโลเมตร รวมระยะทางจากเชียงราย 42 กิโลเมตร เป็นทางลาดยางตลอดสาย และจากดอยแม่สลองมีถนนเชื่อมต่อไปถึงบ้านท่าตอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง 45 กิโลเมตร ในกรณีไม่ได้ขับรถมาเองให้ขึ้นรถประจำทางจากตัวเมืองเชียงรายไปต่อรถสองแถวที่ปากทางขึ้นดอยแม่สลอง จุดน่าสนใจบนดอยแม่สลอง: ชมไร่ชาและศึกษาวิธีการผลิตชา ขี่ม้าชมทิวทัศน์รอบหมู่บ้านอาข่า(หมู่บ้านเจียงจาใส) และอนุสรณ์สถานอดีตทหารจีนคณะชาติภาคเหนือ ประเทศไทย ศึกษาเรื่องราว ประวัติของชาวดอยแม่สลอง มีไกด์นำชม เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น. ค่าเข้าชม 20 บาท

ดอยหัวแม่คำ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,850 เมตร จากเชียงรายใช้เส้นทางเดียวกับทางขึ้นดอยแม่สลองสายเก่า ทางหลวงหมายเลข 1130 แล้วเลี้ยวขวาที่สามแยกอีก้อ ผ่านบ้านเทิดไทย ไปจนถึงบ้านแม่คำ ห่างจากตัวเมืองเชียงราย 100 กิโลเมตร บ้านหัวแม่คำอยู่เกือบสุดชายแดน เส้นทางเป็นทางลูกรังคดโค้งไปตามทิวเขา ใช้เวลาเดินทางราว 3 ชั่วโมง ดอยหัวแม่คำเป็นที่ตั้งหมู่บ้านชาวเขาขนาดใหญ่ ประกอบด้วยเผ่าลีซอ เป็นกลุ่มชนส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีอีก้อ ม้งและมูเซอ ในช่วงเวลาซึ่งตรงกับตรุษจีนของทุกปี ชาวลีซอจะจัดงานประเพณีกินวอ ซึ่งเปรียบเสมือนวันขึ้นปีใหม่ ในวันนั้นชาวลีซอแต่งกายสวยงาม มีการกินเลี้ยง เต้นระบำ 7 วัน 7 คืน และในเดือนพฤศจิกายนเป็นช่วงที่ดอยหัวแม่คำงดงามไปด้วยดอกบัวตองสีเหลืองสดใสสะพรั่งอยู่ทั่วไปตามแนวเขา เป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอก บนดอยมีบริการบ้านพัก

พระตำหนักดอยตุง เคยเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานเพื่อทรงงานของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี มีรูปทรงผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนากับชาเลย์ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีการแกะสลักไม้ตามกาแล เชิงชายและขอบหน้าต่างเป็นลวดลายต่าง ๆ โดยฝีมือช่างชาวเหนือ รอบ ๆ พระตำหนักมีสวนดอกไม้หลากพันธุ์ หลายสี ให้ความสวยงามสดชื่น โดยเฉพาะในฤดูหนาวจะเห็นหมอกจาง ๆ บริเวณยอดเขารอบ ๆ พระตำหนัก มีเจ้าหน้าที่นำชมเป็นรอบ ๆ ละ 20 นาที เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา07.00-17.30 น. ค่าเข้าชม 70 บาท

สวนแม่ฟ้าหลวง อยู่ด้านหน้าพระตำหนักดอยตุง มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ เป็นสวนดอกไม้เมืองหนาว อาทิ ดอกซัลเวีย พิทูเนีย บีโกเนีย กุหลาบ ดอกลำโพง ไม้มงคลต่าง ๆ ไม้ยืนต้นและซุ้มไม้เลี้อยอีกมากกว่า 70 ชนิด รูปปั้นต่อเนื่อง ฝีมือของคุณมีเซียม ยิบอินซอย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.30-18.00 น. ค่าเข้าชม 80 บาท และ หอพระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี เป็นอาคารแสดงพระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีห้องจัดแสดงนิทรรศการ 8 ห้อง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.00-17.00 น. ค่าเข้าชม 30 บาท นอกจากนั้นยังมีร้านขายของที่ระลึก เสื้อผ้าไหม ผลิตภัณฑ์จากโครงการหลวงทั้งผักผลไม้ ดอกไม้ พันธุ์ไม้ต่าง ๆ ให้ซื้อกลับไปเป็นของฝาก นักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าชมทั้ง พระตำหนักดอยตุง สวนแม่ฟ้าหลวง และหอพระราชประวัติฯ จำหน่ายบัตรรวม ราคา 150 บาท ซุ้มจำหน่ายบัตรเปิดเวลา 06.30-18.00 น. หลังเวลา 17.00 น. จำหน่ายเฉพาะบัตรชมพระตำหนักและสวนแม่ฟ้าหลวง

พระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 17.5 บนทางหลวงหมายเลข 1149 เป็นที่บรรจุ พระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้านำมาจากมัธยมประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่พระพุทธ ศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ได้มาประดิษฐานที่ล้านนาไทย เมื่อก่อสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนี้ ได้ทำธงตะขาบ (ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ตุง) ใหญ่ยาวถึงพันวา ปักไว้บนยอดดอย ถ้าหากปลายธงปลิวไปไกลถึงเมืองไหน ก็จะกำหนดเป็นฐานพระสถูป เหตุนี้ดอยซึ่งเป็นที่ประดิษฐานปฐมเจดีย์แห่งล้านนาไทย จึงปรากฏนามว่า ดอยตุง พระธาตุดอยตุงเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ เมื่อถึงเทศกาลนมัสการพระธาตุดอยตุงจะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและเพื่อนบ้านจากประเทศใกล้เคียง เช่น ชาวเชียงตุงในรัฐฉาน สหภาพพม่า ชาวหลวงพระบาง เวียงจันทน์ เดินทางเข้ามานมัสการทุกปี

อำเภอแม่สาย


อำเภอแม่สาย อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงราย 61 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 110 เป็นอำเภอเหนือสุดของประเทศไทย ติดกับจังหวัดท่าขี้เหล็กของพม่า โดยมีแม่น้ำแม่สายเป็นพรมแดน มีสะพานเชื่อมเมืองทั้งสองเข้าด้วยกัน ทั้งชาวไทยและชาวพม่า เดินทางไปมาหาสู่ค้าขายกันได้โดยเสรี นักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมเดิน ทางไปยังตลาดชายแดนแม่สายและท่าขี้เหล็กของพม่า เพื่อซื้อสินค้าพื้นเมืองและสินค้าราคาถูก เช่น สบู่พม่าสมุนไพร เครื่องทองเหลือง ตะกร้า การข้ามไปท่าขี้เหล็กนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางเข้าเขตประเทศพม่าได้ทุกวัน ระหว่างเวลา 06.30-18.00 น. โดยใช้บัตรประชาชน หรือบัตรอื่น ๆ ที่ทางราชการออกให้ ค่าบริการคนละ 30 บาท ค่าผ่านแดนเข้าพม่า 10 บาท สินค้าที่ไม่อนุญาตให้ซื้อเข้าไทย ได้แก่ สินค้าจากซากสัตว์ป่า สุรา บุหรี่ต่างประเทศและซีดีอนาจาร หากซื้อมาเพื่อการค้าต้องเสียภาษีนำเข้าให้ถูกต้องด้วย ด่านตรวจคนเข้าเมือง แม่สาย

ถ้ำผาจม หมู่ที่ 1 ตำบลแม่สาย อยู่ห่างจากอำเภอแม่สายไปทางทิศเหนือประมาณ 1.5 กิโลเมตร ถ้ำผาจมตั้งอยู่บนดอยอีกลูกหนึ่ง ทางทิศตะวันตกของดอยเวา ติดกับแม่น้ำสาย เคยเป็นสถานที่ซึ่งพระภิกษุสงฆ์นั่งบำเพ็ญเพียรภาวนา เช่น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ปัจจุบันมีรูปปั้นของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ประดิษฐาน ไว้บนดอยด้วย ภายในถ้ำผาจมมีหินงอกหินย้อยอยู่ตามผนังและเพดานถ้ำ สวยงามวิจิตรตระการตา

ถ้ำปุ่ม ถ้ำปลา ถ้ำเสาหินพญานาค ตั้งอยู่ที่ดอยจ้อง หมู่ที่ 11 ตำบลโป่งผา ห่างจากอำเภอแม่สายไปทางทิศใต ้ตามทางหลวงหมายเลข 110 ประมาณ 12 กิโลเมตร มีทางแยกเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ดอยจ้องเป็นภูเขาหินปูน จึงประกอบด้วย ถ้ำหินงอก หินย้อย และทางน้ำไหลมากมาย

ถ้ำเสาหินพญานาค อยู่ในบริเวณเดียวกัน เดิมต้องพายเรือข้ามน้ำเข้าไปชม ภายหลังได้สร้างทางเดินเชื่อมกับถ้ำปลา ระยะทาง 150 เมตร ภายในถ้ำมีหินงอก หินย้อย และยังเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมด้วย
อำเภอเชียงแสน
อำเภอเชียงแสน เป็นอำเภอเล็ก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ห่างจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ 59 กิโลเมตร โดยแยกจากทางหลวงหมายเลข 110 ที่อำเภอแม่จัน ไปตามทางหลวงหมายเลข 1016 ประมาณ 31 กิโลเมตร เชียงแสนเป็นเมืองเก่าแก่มากแห่งหนึ่งในภาคเหนือ เดิมชื่อ “เวียงหิรัญนครเงินยาง” แม้ปัจจุบันยังมีซากกำแพงเมืองโบราณ 2 ชั้น และโบราณสถานหลายแห่งปรากฏอยู่ทั้งในและนอกตัวเมือง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน เป็นแหล่งรวบรวมโบราณวัตถุที่ได้จากบริเวณเมืองโบราณเชียงแสนและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ลวดลายปูนปั้นฝีมือล้านนา พระพุทธรูปและศิลาจารึกจากเชียงแสนและจากจังหวัดพะเยา พร้อมทั้งให้ข้อมูลทางด้านวิชาการ เกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี การตั้งถิ่นฐานของชุมชน และประวัติการสร้างเมืองเชียงแสน นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงศิลปะพื้นบ้าน ของชาวไทยใหญ่ ไทยลื้อและชาวเขาเผ่าต่าง ๆ เช่น เครื่องเขิน เครื่องดนตรี เครื่องประดับ เป็นต้น เปิดวันพุธ-อาทิตย์ ยกเว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชมชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท

วัดป่าสัก อยู่ห่างจากอำเภอเชียงแสนประมาณ 1 กิโลเมตร เขตตำบลเวียง พระเจ้าแสนภูทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1838 และให้ปลูก ต้นสักล้อมกำแพงจำนวน 300 ต้น จึงได้ชื่อว่า “วัดป่าสัก” ทรงตั้งพระพุทธโฆษาจารย์เป็นสังฆราชจำพรรษา ณ อารามแห่งนี้ ภายในวัด มีโบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงมณฑปยอดระฆัง ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นอันวิจิตร เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ กระดูกตาตุ่มข้างขวาจากเมืองปาฏลีบุตร

วัดพระธาตุผาเงา อยู่ห่างจากอำเภอเชียงแสนไปตามเส้นทางเชียงแสน-เชียงของ ประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ตรงข้ามโรงเรียนสบคำ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม มีเจดีย์ทรงระฆังขนาดเล็กตั้งอยู่บนหินก้อนใหญ่ วิหารปัจจุบันสร้างทับซากวิหารเดิม บนยอดเขาข้างหลังวัด เป็นที่ตั้งพระบรมพุทธนิมิตเจดีย์ เป็นจุดที่มองเห็นทิวทัศน์สวยงามได้โดยรอบ

วัดพระธาตุจอมกิตติ ตั้งอยู่บนเนินเขานอกตัวเมืองถนนเลียบแม่น้ำเชียงแสน-เชียงของ ตามพงศาวดารกล่าวว่า พระเจ้าพังคราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง เมื่อ พ.ศ. 1483 พร้อมกับพระธาตุจอมทอง เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง สมัยเชียงแสน ต่อมาพระเจ้าสุวรรณคำล้านได้บูรณะและปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุใหม่ในราวพุทธศตวรรษที่ 22-23

ทะเลสาบเชียงแสน หรือหนองบงคาย อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงแสนตามทางหลวงหมายเลข 1016 สายเชียงแสน-แม่จัน ไปประมาณ 5 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายกิโลเมตรที่ 27 เข้าไปอีก 2 กิโลเมตร ในฤดูหนาวจะมีฝูงนกน้ำอพยพมาอาศัยที่ทะเลสาบแห่งนี้ และยังมีทิวทัศน์สวยงามมากเวลาพระอาทิตย์ตก

สบรวก หรือ ดินแดนแห่งสามเหลี่ยมทองคำ อยู่ห่างจากเชียงแสนไปทางทิศเหนือ 9 กิโลเมตร ตามถนนเลียบริมแม่น้ำโขง สบรวกเป็นบริเวณที่แม่น้ำโขงซึ่งกั้นดินแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว มาพบกับแม่น้ำรวกซึ่งกั้นดินแดน ระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า จากจุดนี้นักท่องเที่ยวจะมองเห็นดินแดนที่เรียกกันว่า สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเชื่อมดินแดน 3 ประเทศ คือไทย ลาว พม่า เข้าด้วยกัน ที่สบรวกมีบริการเรือให้เช่าเพื่อเดินทางไปชมทิวทัศน์บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ใช้เวลาเดินทาง 20 นาที และยังสามารถเช่าเรือจากสบรวกไปยังเชียงแสนและเชียงของได้ ใช้เวลาในการเดินทาง ประมาณ 40 นาที และ 1 ชั่วโมงครึ่งตามลำดับ

หอฝิ่นอุทยานสามเหลี่ยมทองคำ ห่างจากอำเภอเชียงแสน 9 กิโลเมตร เป็นสถานที่จัดแสดงถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ของฝิ่นในสามเหลี่ยมทองคำ ต้นกำเนิดฝิ่น สงครามฝิ่น ผู้นำฝิ่นเข้ามาในเอเชีย ผลกระทบของฝิ่น การยุติการดำรงชีวิต ที่ต้องพึ่งพิงกับการปลูกฝิ่นและเสพฝิ่น การฟื้นฟูสภาพชีวิตประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใจกลางสามเหลี่ยมทองคำของประเทศไทย เป็นการแสดงนิทรรศการพร้อมสัมผัสกับเรื่องราวต่างๆของฝิ่นแบบคล้ายจริง ใช้เวลาชมเรื่องราวต่างๆ ในหอฝิ่นประมาณ 2-3 ชั่วโมง เปิดวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 08.30-16.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 200 บาท ชาวต่างชาติ 300 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีเข้าชมฟรี 12-18 ปี 50 บาท ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 50 บาท

อำเภอเชียงของอำเภอเชียงของ อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ 114 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายอำเภอเชียงแสน-เชียงของ ทางหลวงหมายเลข 1129 เป็นทางเลียบฝั่งโขง ห่างจากเชียงแสนประมาณ 55 กิโลเมตร อีกเส้นทางหนึ่งคือ จากอำเภอแม่จัน ใช้เส้นทางแม่จัน-บ้านกิ่วพร้าว-บ้านแก่นทางหลวงหมายเลข 1098 บ้านแก่น-บ้านทุ่งงิ้ว ทางหลวงหมายเลข 1174 และบ้านทุ่งงิ้ว-เชียงของ รวมระยะทางจากเชียงรายประมาณ 137 กิโลเมตร ทางลาดยางตลอดสาย

ท่าเรือบั๊ค จุดผ่านแดนถาวรระหว่างไทย-ลาว ริมฝั่งแม่น้ำโขง มองเห็นทิวทัศน์ของเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นักท่องเที่ยวชาวไทยสามารถข้ามไปฝั่งลาวได้โดยติดต่อที่ว่าการอำเภอเชียงของ พร้อมรูปถ่าย 1 นิ้ว 2 รูป สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ชุด และค่าธรรมเนียม 40 บาท หรือพาสปอร์ตโดย ไม่ต้องทำวีซ่า สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศต้องขอวีซ่าจากสถานทูตหรือจากด่านเชียงของได้เลย (ด่านเปิดทุกวัน เวลา 06.30-18.30 น.) จากจุดนี้สามารถเดินทางท่องเที่ยวโดยเรือไปถึงหลวงพระบาง สปป.ลาว และกลับเข้าประเทศไทยที่จังหวัดหนองคายได้

บ้านหาดบ้าย ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางเชียงแสน-เชียงของ ถนนเลียบริมแม่น้ำโขง เป็นหมู่บ้านของชาวไทยลื้อ มีขนบธรรมเนียมประเพณีงดงามน่าสนใจ โดยเฉพาะฝีมือการทอผ้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงจากอำเภอเชียงของ นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือหางยาวไปยังบ้านหาดบ้าย โดยขึ้นเรือที่ท่าเรือบั๊ค ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และยังได้ชมทัศนียภาพสองฝั่งโขงอันสวยงามอีกด้วย
อำเภอเวียงแก่น

ดอยผาตั้ง
อยู่ในความดูแลของกองทัพภาคที่ 3 เป็นจุดชมวิวไทย-ลาว และเที่ยวชมทะเลหมอกได้ตลอดปี ในเดือนธันวาคม ถึง มกราคม มีดอกซากุระและดอกเสี้ยวบานสะพรั่งงดงาม เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวจีนฮ่อ ม้ง และเย้า โดยเฉพาะจีนฮ่อนั้น อดีตเคยเป็น ส่วนหนึ่งของกองพล 93 ซึ่งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ดอยผาตั้งนี้ ปัจจุบันประกอบอาชีพทางการเกษตร ปลูกพืชเมืองหนาว เช่น บ๊วย ท้อ สาลี่ แอปเปิ้ล และชา การเดินทาง จากจังหวัดเชียงราย ใช้เส้นทางเชียงราย-เวียงชัย-พญาเม็งราย-บ้านต้า ทางหลวงหมายเลข 1233, 1173 และ 1152 ระยะทาง 50 กิโลเมตร บ้านต้า-บ้านท่าเจริญ ทางหลวงหมายเลข 1020 ระยะทาง 45 กิโลเมตร บ้านท่าเจริญ-เวียงแก่น-ปางหัด ทางหลวงหมายเลข 1155 ระยะทาง 17 กิโลเมตร และปางหัด-ดอยผาตั้ง อีก 15 กิโลเมตร แล้วเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร จึงจะถึงจุดชมวิว 103 สภาพเส้นทางบางช่วงสูงชัน บนดอยผาตั้งมีที่พัก สถานที่กางเต็นท์และร้านอาหาร จุดบริการนักท่องเที่ยวดอยผาตั้ง

หาดผาได อยู่ห่างจากเทศบาลเวียงแก่น 12 กิโลเมตร เป็นจุดชมวิวเหมาะสำหรับฤดูหนาว เกาะแก่งและแนวหาดทรายในลำน้ำโขง ปรากฏเป็นบริเวณกว้างดูสวยงามมาก เป็นเส้นแบ่งพรมแดนไทย-ลาว จุดนี้แม่น้ำโขงไหลเข้าสู่ประเทศลาว กลับเข้าสู่ประเทศไทย อีกครั้งที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
อำเภอเทิง

ภูชี้ฟ้า เป็นจุดชมวิวทะเลหมอกและพระอาทิตย์ขึ้น อยู่ห่างจากดอยผาตั้ง 25 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นยอดเขา ที่แหลมชี้ ขึ้นไป บน ท้องฟ้า อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,628 เมตร โดยมีหน้าผาเป็นแนวยาวยื่นไปทางฝั่งประเทศลาว บนยอดภูชี้ฟ้า เป็นทุ่งหญ้ากว้าง การเดินทาง สามารถเดินทางโดยรถยนต์ใช้เส้นทางเชียงราย-เทิง ระยะทาง 64 กิโลเมตร และจากเทิง-บ้านยี้ ระยะทาง 6 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1155 ผ่านบ้านปางค่า บ้านเชงเม้ง เป็นทางราดยาง ถึงภูชี้ฟ้าระยะทาง 42 กิโลเมตร หรือใช้เส้นทางหมายเลข 1021 สายเทิง-เชียงคำ-บ้านฮวก ก่อนถึงเชียงคำ 6 กิโลเมตร มีทางแยกไปอุทยานแห่งชาติน้ำตกภูซาง อีก 19 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อไปยังภูชี้ฟ้าอีก 30 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถ นำรถ ไปจอดไว้ที่ลานจอดรถวนอุทยานภูชี้ฟ้าแล้วเดินเท้าไปจุดชมวิวประมาณ 700 เมตรนอกจากนี้จากสถานีขนส่งเชียงราย มีรถโดยสาร ไปยังภูชี้ฟ้า รถออกเวลา 12.15 น. (เฉพาะฤดูหนาว)

วัดพระธาตุจอมจ้อ จากตัวเมืองเชียงราย 65 กิโลเมตร ตั้งอยู่ตำบลเวียง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย พระธาตุจอมจ้อ เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิที่อยู่คู่เมืองเทิงมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล เป็นพระธาตุที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า ทุกปีจะมีพิธี สรงน้ำ พระธาตุจอมจ้อ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เหนือ การเดินทาง ใช้เส้นทางเชียงราย – เทิง เข้าสู่อำเภอเมือง ข้ามสะพานแม่น้ำอิงอีก 25o เมตร จะถึงปากทางเข้าพระธาตุจอมจ้อ ขับรถขึ้นดอยอีกประมาณ 3oo เมตร ความเชื่อในการไหว้พระธาตุดอยจอมจ้อ จ้อ หมายถึง พูดดี พูดเก่ง ถ้าได้กราบไหว ้ก็จะประสบความสำเร็จทุกสิ่งเหมือน กับการเริ่มเจรจาก็นำมา ซึ่งความสำเร็จ และสมประสงค์ ทุกประการ
อำเภอพาน

พระธาตุจอมแว่ อยู่บนภูเขาจอมแว่ หมู่ที่ 2 ถนนจอมแว่ (สายเก่า) ตำบลเมืองพาน เป็นพระธาตุที่มีประชาชนชาวอำเภอพาน และอำเภอใกล้เคียงนับถือกันว่าเป็นพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ เมื่อถึงเดือน 9 ขึ้น 15 ค่ำ จะมีงานนมัสการองค์พระธาตุทุกปี

อุทยานแห่งชาติดอยหลวง มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอแม่สรวย อำเภอพาน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง และอำเภอแม่ใจ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีเนื้อที่ 731,250 ไร่ สภาพภูมิประเทศเป็นเขาสูง มีดอยหลวง เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด ประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้นและป่าเต็งรัง มีสัตว์ป่าและนกหลายชนิด การเดินทาง ใช้เส้นทาง สายเชียงราย-พะเยา ไป 58 กิโลเมตร ถึงบ้านปูแกง บริเวณ กม. ที่ 773 เลี้ยวขวาอีก 9 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยาน สถานที่ท่องเที่ยวซึ่งอยู่ใกล้ที่ทำการอุทยานได้แก่ น้ำตกปูแกง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย น้ำไหลจากภูเขา สูงสลับซับซ้อนก่อให้เกิดชั้นน้ำตกที่สวยงามถึง 9 ชั้น บริเวณน้ำตกมีการทับถมของหินปูนที่ปนมากับน้ำ ทำให้เกิดหินงอก หินย้อย มากมาย อุทยานฯ มีสถานที่ตั้งแคมป์และบริการเดินป่า
อำเภอแม่สรวย

วัดพระเจ้าทองทิพย์ อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงรายตามถนนสายเชียงใหม่-เชียงราย เลี้ยวขวากิโลเมตรที่ 121 ที่บ้านห้วยส้ม ผ่านตำบลศรีถ้อย เข้าไปประมาณ 6 กิโลเมตร ตามประวัติกล่าวว่า ประมาณ พ.ศ. 2076 พระเจ้าเชียงใหม่ได้ยกพระธิดา ให้กับ พระเจ้าโพธิสารกษัตริย์แห่งกรุงศรีสัตตนาคณหุต (สปป.ลาว) แต่ไม่มีโอรสจึงไปบนขอจากพระเจ้าทองทิพย์ พระมเหสี ทรงประสูต ิพระโอรส พระนามว่าพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เมื่อพระชนมายุได้ 12 พรรษา พระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งมีศักดิ์เป็นตาได้สวรรคต ไม่มีราชบุตรสืบราชบัลลังก์ ข้าราชบริพารได้ทูลขอพระไชยเชษฐาไปครองเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าโพธิสารก็ทรงอนุญาต และขอให้ อัญเชิญพระเจ้าทองทิพย์ไปด้วย โดยล่องเรือมาตามลำน้ำโขง ลำน้ำกก และลำน้ำลาว เมื่อเดินทางถึงที่ตั้งวัดในปัจจุบัน เรือก็เกยตื้น ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้จึงได้นิมนต์พระเจ้าทองทิพย์ประดิษฐานไว้ ณ ที่นั่นเอง พระเจ้าไชยเชษฐาครองเมืองเชียงใหม่ได้ 2 ปี พระบิดาก็สวรรคตจึงเสด็จกลับมาหลวงพระบาง พระองค์ได้นำพระพุทธรูปสำคัญของเมืองเชียงใหม่ไปด้วย เช่น พระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์ พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาว และอีกหลายองค์ ซึ่งต่อมาพระพุทธรูปทุกองค์ได้คืนกลับมาเมืองไทยหมด แต่พระเจ้า ทองทิพย์ได้ค้างอยู่ในป่าเป็นเวลานานหลายร้อยปี พระเจ้าทองทิพย์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 80 เซนติเมตร สูง 120 เซนติเมตร เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ว่า ถ้าใครต้องการมีบุตรให้มาบนขอ ในเส้นทางผ่านไปวัดมีโรงงานผลิตไวน์รสดีชื่อ เชียงรายไวน์เนอรี่ ผลิตไวน์ขาวลิ้นจี่ “ลาซองเต้” ที่ใช้เลี้ยงรับรองในการประชุมเอเปค และไวน์อื่น ๆ อีกหลายชนิด นอกจากนี้ใน เส้นทางผ่านไปยังมีสถานที่น่าสนใจ เช่น เขื่อนแม่สรวย หัตถกรรมของเล่นเด็กทำจากไม้ไผ่ ที่หมู่บ้านป่าแดด โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ซึ่งเป็นโครงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ดอยช้างดอยวาวี อยู่ห่างจากตัวเมือง 75 กิโลเมตร/2 ชั่วโมง จากทางหลวงหมายเลข 118 ถนนสายเชียงราย-เชียงใหม่ แยกไปตามถนนทางหลวงชนบทบ้านตีนดอย-บ้านใหม่หมอกจ๋าม เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางขึ้นสู่ดอยวาวี ผ่านเขื่อนแม่สรวย เส้นทางมีสภาพค่อนข้างคดเคี้ยว เป็นถนนลาดยางตลอดเส้นทาง รถยนต์ทุกประเภทสามารถเดินทางได้ แต่เส้นทางดอยช้างบาง ช่วงฤดูกาลควรใช้รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ เนื่องจากเส้นทางดอยช้างประมาณ 15 กม.เป็นลูกรัง บริเวณด้านหน้า อ.แม่สรวย มีรถยนต์สองแถวไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวทุกวัน มีรถยนต์บริการทุกชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.

อำเภอเวียงป่าเป้า

บ่อน้ำร้อนธรรมชาต
ิ อยู่ที่ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ ถนนสายเชียงราย-เชียงใหม่ กม. ที่ 64-65 มีบ่อน้ำร้อนธรรมชาติ 3 บ่อ บริเวณบ่อน้ำร้อนมีชาวบ้านนำไข่มาขายเพื่อให้นักท่องเที่ยวทดสอบต้มในบ่อน้ำร้อน เป็นจุดแวะพักระหว่างการเดินทางจากเชียงใหม่-เชียงราย มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกบริการนักท่องเที่ยว

อุทยานแห่งชาติขุนแจ เดินทางไปตามเส้นทางสายเชียงใหม่-เชียงรายบนทางหลวงหมายเลข 118 จะถึงที่ทำการอุทยาน ซึ่งอยู่ริมทางบริเวณ กม. ที่ 55-56 อุทยานแห่งชาติขุนแจตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2538 เป็นอุทยานที่มีความร่มรื่นสมบูรณ์ของป่า มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย มีสัตว์ป่าหลายชนิด ได้แก่ ชะมด หมูป่า เก้ง เม่น หมี ลิงลม นกต่างๆ เช่น นกแซงแซวสีเทา เหยี่ยวรุ้ง นกตีทอง นกเขียวก้านทองปีกสีฟ้า เป็นต้น
การเดินป่าในอุทยานแห่งชาติขุนแจต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง และต้องเตรียมอุปกรณ์ค้างแรมมาเอง เดือนพฤศจิกายน-มีนาคมเป็นช่วงที่เหมาะแก่การท่องเที่ยว
เทศกาลงานประเพณี

งานไหว้สาพญาเม็งราย หรือ งานพ่อขุนเม็งรายมหาราช จัดปลายเดือนมกราคม – ต้นเดือนกุมภาพันธ์ มีพิธีบวงสรวง
พ่อขุนเม็งรายมหาราช มีการออกร้าน จัดนิทรรศการของส่วนราชการและเอกชน และงานรื่นเริงอื่น ๆ

งานดอกเสี้ยวบานที่ภูชี้ฟ้า จัดระหว่างวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ มีการแข่งขันกีฬาและการแสดงศิลปวัฒนธรรมชาวดอย ณ บ้านร่มฟ้าไทย อำเภอเทิง

งานเทศกาลเชียงรายดอกไม้งาม จัดในเดือนกุมภาพันธ์ มีการประกวดไม้ดอกไม้ประดับ การประกวดกล้วยไม้และสวนกล้วยไม้ นิทรรศการด้านวิชาการการเกษตรและการประกวดนางสาวถิ่นไทยงาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น