วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

แหล่งท้องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดสุพรรณบุรี

บึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ

เป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ อยู่ห่างจากจังหวัดสุพรรณบุรี 64 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 340 กิโลเมตรที่ 151-152 เดิมเรียกว่า บึงบัวแดง เคยเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำท่าจีน เมื่อผ่านระยะเวลาและการทับถมของตะกอนดินโคลน ทำให้ส่วนหนึ่งของแม่น้ำแยกตัวออกมาเป็นรูปบึงโค้ง ส่วนกลางบึงเต็มไปด้วยดอกบัวหลวงทั้งสีขาวและสีชมพู และในราวเดือนกันยายนถึงพฤษภาคม จะเห็นเป็ดแดงฝูงใหญ่ลอยตัวจับกลุ่มอยู่ตามกอบัวทั่วไป

บึงฉวากฯ ตั้งอยู่ที่ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,000 ไร่ โดยมีพื้นที่ส่วนหนึ่ติดต่อกับอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท อยู่ในความดูแลของหน่วยราชการ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป่าไม้และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี สิ่งที่น่าสนใจในบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติได้แก่
1. ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่า บึงฉวาก
- กรงนกใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ สูง 25 เมตร ภายในกรงตกแต่งให้ดูคล้ายธรรมชาติ มีนกอยู่กว่า 45 ชนิด นกที่น่าสนใจได้แก่ นกกาบบัว นกเป็ดแดง เป็นต้น นอกจากนี้มีนิทรรศการเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าชนิดต่างๆ การดูนกสภาพทางภูมิศาสตร์

- กรงเสือและสิงโต ภายในกรงตกแต่งเป็นถ้ำและเนินหินให้ดูคล้ายธรรมชาติ รวบรวมสัตว์ป่าตระกูลแมว เช่น สิงโต เสือโคร่ง เสือลายเมฆ เสือดาว แมวดาว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกรงสัตว์ป่าอีกหลายประเภทจัดแสดงไว้ เช่น นกยูง ไก่ฟ้าชนิดต่างๆ ม้าลาย อูฐ นกกระจอกเทศ

2.อุทยานผักพื้นบ้านเพื่อการยังชีพ เฉลิมพระเกียรติบึงฉวาก
ได้รวบรวมผักพื้นบ้านจากทั่วทุกภาคของประเทศไทยกว่า 500 ชนิด มีทั้งไม้ยืนต้น ไม้เลื้อย ไม้ล้มลุกและไม้ชื้นแฉะ สิ่งที่น่าสนใจได้แก่ น้ำเต้าสี่เหลี่ยม บวบหอมขนาดใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโรงปลูกพืชระบบระเหยน้ำ และสาธิตการปลูกพืชไร้ดินให้ชม

3.สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ บึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ ประกอบด้วย
-อาคารแสดงสัตว์น้ำหลังที่ 1 จัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืดและน้ำเค็มทั้งพันธ์ปลาไทยและต่างประเทศกว่า 50 ชนิด เช่น ปลาบึก ปลากระโห้ ปลาม้า ปลาช่อนงูเห่า ปลาเสือตอ เป็นต้น

-อาคารแสดงสัตว์น้ำหลังที่ 2 ประกอบด้วยตู้ปลาขนาดใหญ่บรรจุน้ำได้กว่า 400 ลูกบาศก์เมตร สามารถเดินชมได้โดยรอบ และอุโมงค์ปลาน้ำจืดความยาวประมาณ 8.5 เมตร(อุโมงค์ปลาน้ำจืดแห่งแรกของประเทศไทย)มีนักประดาน้ำหญิงสาธิตการให้อาหารปลา นอกจากนี้ยังมีตู้ปลาน้ำจืด 30 ตู้ และตู้ปลาทะเลสวยงาม 7 ตู้

- บ่อจระเข้ มีพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ มีจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยประมาณ 60 ตัว และการแสดงให้ชม

ตลาดเก้าห้อง หอดูโจร ห้องแถวไม้โบราณ

ความเป็นมาของตลาดเก้าห้อง
คำว่า "เก้าห้อง" นำมาจากชื่อบ้านเก้าห้อง ซึ่งเป็นบ้านของขุนกำแหงฤทธิ์ ตั้งอยู่ริมน้ำ ข้างวัดลานคา และอยู่ตรงข้ามตลาดเก้าห้อง เป็นบ้านเรือนไทย ฝาประกัน ใต้ถุนสูง ภายในบ้านแบ่งออกเป็น 9 ห้อง มีศาลปู่ศาลย่าเป็นที่เคารพบูชา
ตลาดเก้าห้อง เป็นชุมชนร้านตลาด อยู่ฝั่งตรงข้ามบ้านเก้าห้อง ตลาดนี้เคยคึกคักอยู่เมื่อเจ็ดสิบแปดปีก่อน โดยมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการค้าขายของชาวบ้านในทุ่งฟากตะวันตกของบางปลาม้า ทั้งยังเป็นทางผ่านของเรือเมล์โดยสาร ระหว่างสุพรรณ-งิ้วราย
ตลาดเก้าห้อง ก่อสร้างโดยชาวจีนชื่อ ฮง ประกอบอาชีพค้าขายและรับเหมาก่อสร้างจนร่ำรวย จึงต่อแพค้าขายอย่างถาวรอยู่หน้าบ้านเก้าห้อง แล้วเปลี่ยนชื่อจากฮง มาเป็นนายบุญรอด เหลียงพานิชย์เพื่อความสะดวกสะดวกในการค้าขาย ด้วยกิตติศัพท์ความร่ำรวยของนายบุญรอดล่วงรู้ไปถึงหมู่โจร จึงถูกบุกปล้นทรัพย์สินไปจำนวนหนึ่ง ทางอำเภอได้ออกสกัดจับโจรได้ทั้งหมดในวันรุ่งขึ้น พร้อมนำทรัพย์สินมา ต่อมานายบุญรอดคิดสร้างตลาดเพื่อค้าขายบนบก ชาวบ้านเรียกตลาดนี้ว่า "ตลาดเก้าห้อง" ซึ่งคำว่าเก้าห้องนำมาจากชื่อบ้านเก้าห้องนั่นเอง


หอดูโจรในตลาดเก้าห้อง

สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2477 โดยนายบุญรอด เหลียงพานิช เป็นหอก่ออิฐถือปูน กว้าง 3x3 เมตร สูงราวตึก 4 ชั้น มีบันไดขึ้น 4 ชั้น ชั้นบนเป็นดาดฟ้า แต่ละชั้นฝาผนังจะมีรูโตขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 นิ้ว เมื่อเราขึ้นไปบนยอดสุด จะมองเห็นทัศนียภาพทั้งทางน้ำและทางบก ตลอดจนตลาดเก้าห้องได้หมด

สำหรับท่านที่ต้องการเห็นสภาพตลาดริมน้ำแบบดั้งเดิม นับวันแต่จะหายไป ท่านสามารถสัมผัสกับบรรยากาศได้ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นสภาพตลาด หอดูโจร บ้านเรือนไม้เก่าหรือชีวิตแบบเรียบง่าย


โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตกจังหวัดสุพรรณบุรี

ตั้งอยู่ริมถนน สุพรรณบุรี-ชัยนาท ตำบลสนามชัย ภายในศูนย์ศิลปวัฒนธรรมภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นโรงละครภูมิภาคขนาด 850 ที่นั่ง ซึ่งกำหนดให้สร้างขึ้นสำหรับภาคตะวันตกของประเทศ เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ด้านการแสดง ให้บริการทางวิชาการด้านนาฏศิลป์-ดนตรี รวมทั้งเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างชาติ ประจำภาคตะวันตก มีการจัดการแสดงละคร และกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม โดยนักเรียนของวิทยาลัยนาฎศิลปให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม ทุกวันเสาร์


หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย

ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 340 กิโลเมตรที่ 115-116 เป็นสถานที่รวบรวมวิถีชีวิตแบบพื้นบ้านภาคกลาง มีพื้นที่ 100 กว่าไร่ แบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ เช่น หมู่บ้านชาวนา แสดงวิถีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย มีลานนวดข้าว คอกควาย โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ บ้านเรือนไทยภาคกลาง เรือนแต่ละหลังมีกิจกรรมสำหรับผู้สนใจ เช่น เรือนโหราศาสตร์ เรือนแพทย์แผนไทย การนวดแผนไทย และการใช้สมุนไพรไทย มีลานแสดงความสามารถของควายไทย และร้านขายของที่ระลึกบริเวณด้านหน้าทางเข้า

บ้านควายเปิดให้บริการทุกวันตามวันและเวลาดังนี้
วันจันทร์ - ศุกร์ 09.00 - 18.00 น.
วันเสาร์ - อาทิตย์ 09.30 - 18.30 น.



คูเมืองสุพรรณบุรี อำเภอเมืองสุพรรณบุรี

คูเมืองสุพรรณบุรี เป็นคูน้ำและกำแพงเมืองเก่ารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่มีอายุหลายร้อยปี สร้างสมัยอู่ทองตอนปลาย มีความยาวถึง 6.2 กิโลเมตร ด้านทิศเหนือเป็นคลองเล็กๆเชื่อมจากแม่น้ำสุพรรณที่วัดแค ย้อนขึ้นทิศเหนือ – เลี้ยวไปทางตะวันตก แล้ววกกลับลงทิศใต้ หักกลับทิศตะวันออกลงสู่แม่น้ำสุพรรณที่ใกล้สะพานอาชาสีหมอก

ที่นี่ยังคงสภาพคูเมืองอย่างชัดเจน โดยยังคงมีทรากกำแพงเมืองทางด้านใต้ที่ได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากรในปี พ.ศ. 2539 สามารถไปเยี่ยมชมเพื่อศึกษาร่องรอยทางประวัติศาสตร์ได้

พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์

พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อยู่ที่ ตำบลดอนเจดีย์ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 31 กิโลเมตร ประกอบด้วยพระบรมราชนุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรบพระคชาธารออกศึก และองค์เจดีย์ยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างเจดีย์เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะในสงครามยุทธหัตถี ที่ทรงมีต่อพระมหาอุปราชาแห่งพม่า เมื่อปี 2134 และในปี 2495 กองทัพบกได้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ขึ้นใหม่ โดยสร้างเป็นเจดีย์แบบลังกาทรงกลมใหญ่ สูง 66 เมตร ฐานกว้างด้านละ 36 เมตร ครอบเจดีย์องค์เดิม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลปัจจุบันทรงเสด็จประกอบพิธีบวงสรวงและเปิดพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2502 ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้วันที่ 25 มกราคมของทุกปี เป็นวันถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์และเป็นวันกองทัพไทยด้วย
บริเวณภายในองค์เจดีย์มีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชประวัติ และวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เลยจากเจดีย์ไปประมาณ 100 เมตร เป็นที่ตั้งของพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภายในมีรูปปั้นของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระสุพรรณกัลยา มีผู้นิยมมาสักการะบูชาอยู่เสมอ นอกจากนี้ในระหว่างวันที่ 18 มกราคม ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ของทุกปี ทางจังหวัดสุพรรณบุรีได้จัดงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์และงานกาชาดจังหวัดสุพรรณบุรี

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย

ตั้งอยู่ริมถนนพระพันวษา ตำบลท่าพี่เลี้ยง บริเวณที่ว่าการอำเภอเมืองสุพรรณบุรี เป็นอาคารคอนกรีต ออกแบบผสมผสานระหว่างเรือนไทยและยุ้งฉางชาวนา ลักษณะ อาคารประยุกต์ 2 ชั้นเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการทำนา ชั้นล่าง จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของการทำนา เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนา ประเพณีและวิถีชีวิตของชาวนา เรื่องราวของข้าวในอดีตและที่น่าสนใจ คือการพบเศษภาชนะดินเผาที่บ้านบางปูน ตำบลพิหารแดง ซึ่งอาจเป็น หลักฐานพระราชพิธีแรกนาขวัญในสมัยอยุธยา ชั้นบนแสดงพระจริยวัตร ของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชู ชาวนาไทยและทรงพัฒนาการทำนา และการเกษตรของชาติ รวมถึงจัดแสดงภาพจำลองเหตุการณ์พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เมื่อปีพ.ศ. 2529 ณ แปลงนาสาธิตบึงไผ่แขก ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมือง ทรงทำปุ๋ยหมัก หว่านและเก็บเกี่ยวข้าวด้วยพระองค์เอง และ เก็บรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆที่พระองค์ทรงใช้ นอกจากนี้ยังมีห้อง ค้นคว้าข้อมูล สำหรับค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัตถุ ที่จัดแสดง
เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ อังคาร และ วันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. โทร. 0 3552 2191

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี

ตั้งอยู่ริมถนน สุพรรณบุรี-ชัยนาท(ทางหลวงหมายเลข 340)ตำบลสนามชัย ภายในศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ภาคตะวันตกจังหวัดสุพรรณบุรี ตรงข้ามกับศูนย์ราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบด้วยวิทยาลัยนาฎศิลปสุพรรณบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี หอจดหมายเหตุแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี หอสมุดแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรีเฉลิมพระเกียรติ และโรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี ที่จัดตั้งขึ้นตามโครงการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมือง สนองแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ภายในอาคารนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงประวัติฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ
ของเมืองสุพรรณบุรีในอดีต พัฒนาการของเมืองสุพรรณบุรีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี ลพบุรี อยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ จัดแสดงเหตุการณ์สำคัญครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนะศึกยุทธหัตถี ผ่านสื่อโสตทัศนูปกรณ์ จัดแสดงประวัติความเป็นมาและวัฒนธรรมของกลุ่มชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี รวมถึงประวัติบุคคลสำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรีในอดีต ท่านสามารถชมพระพิมโบราณจากกรุวัดที่มีชื่อเสียงต่างๆ ในเมืองสุพรรณบุรี พร้อมยังรวบรวม ผลงานของศิลปินในสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักร้องลูกทุ่ง เพลงพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงไว้มากมาย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี เปิดให้เข้าชม ทุกวันพุธ - วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00 - 16.00 น. เว้นวันจันทร์ วันอังคาร

อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บ. ชาวต่างชาติ 30 บ


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

อาคารที่ ๑ จัดแสดงอารยธรรมเมืองอู่ทองสมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทวารว
ดี (พุทธศตวรรษที่ ๕-๑๖) ซึ่งเคยเป็นเมืองท่าติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ รับรูปแบบศาสนา ศิลปะแบบอมราวดีและแบบคุปตะจากอินเดีย และศิลปะศรีวิชัยจากภาคใต้ เป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ โบราณวัตถุที่จัดแสดง ได้แก่ เครื่องมือหินขัด ภาชนะดินเผา ลูกปัดแก้ว เหรียญกษาปณ์ ประติมากรรมดินเผารูปพระสงฆ์ ๓ องค์อุ้มบาตร พระพุทธรูปปูนปั้นนาคปรกศิลปะแบบอมราวดี ธรรมจักรจารึกแผ่นทองแดง ฯลฯ
อาคารที่ ๒ จัดแสดงประวัติศาสตร์เมืองอู่ทองในสมัยอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๔ การบูรณะซ่อมแซมเจดีย์หมายเลข ๑ ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๒๑๗๓-๒๑๙๘) โบราณวัตถุที่จัดแสดง ได้แก่ พระพุทธรูป พระพิมพ์ ขันสำริด ครอบเต้าปูนสำริด กังสดาล และกระปุกลายครามของจีน ฯลฯ
อาคารที่ ๓ เป็นสถาปัตยกรรมเรือนลาวโซ่ง จัดแสดงขนบธรรมเนียม ประเพณี เครื่องมือ เครื่องใช้ และการทอผ้า
วันทำการ เปิดวันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา ๐๘.๓๐ - ๑๖.๐๐ น.
ปิดวันจันทร์ - วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์

ค่าเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างชาติ ๓๐ บาท


อ่างเก็บน้ำ กระเสียว

อ่างเก็บน้ำกระเสียว อำเภอด่านช้าง
เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีเขื่อนดินยาว 4.25 กม. ที่ใช้เก็บกักน้ำจากภูเขาในลำห้วยกระเสียวเดิม ในอำเภอด่านช้าง ใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาขนาดใหญ่ อีกทั้งยังเป็นเขื่อนที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม พื้นน้ำที่กว้างถึง 45 ตารางกิโลเมตร มีภูเขาโอบรอบด้าน อากาศบริสุทธิ์ เหมาะสำหรับเที่ยวชมและพักผ่อนหย่อนใจ ทั้งยังให้เยาวชนสามารถตั้งค่ายพักแรมในพื้นที่ของโครงการส่งน้ำได้เป็นจำนวนมาก

ส่วนตอนใต้เขื่อนเป็นลำห้วยกระเสียว ซึ่งเดิมไหลผ่านที่ราบตอนกลางแล้วลงสู่แม่น้ำสุพรรณที่อำเภอสามชุก ยังคงมีสภาพที่เป็นธรรมชาติดั้งเดิมอยู่มาก

ขึ้นเขาตะเพินคี่

ขึ้นเขาตะเพินคี่
ทิวเขาในพื้นที่นี้ มียอดเขาสูงสุด อยู่ที่หมู่บ้านกะเหรี่ยงตะเพินคี่ เขตตำบลวังยาว ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1000เมตร การเดินทางอาจลำบากเล็กน้อยด้วยระยะประมาณ 30 กม. จากบ้านห้วยหินดำ ตามถนนลาดยางไปก่อนถึงบ้านกล้วยราว 1 ก.ม. เลี้ยวซ้ายผ่านบ้านป่าผาก จะมีทางแยกซ้ายขึ้นเขาสูง บริเวณนี้อยู่ติดเขตแนวกันชนมรดกโลกห้วยขาแข้ง

หมู่บ้านกะเหรี่ยงตะเพินคี่ มีอากาศที่หนาวเย็นเกือบตลอดปี ด้วยจารีตของชาวกะเหรี่ยงที่ยึดถือสืบทอดกันมาทำให้ที่นี่เป็นหมู่บ้านปลอดอบายมุข และของมึนเมาทุกประเภท ตลอดจนไม่เลี้ยงสัตว์ไว้ฆ่ากิน ประเพณีที่น่าสนใจคืองานไหว้จุฬามณี ซึ่งเป็นเจดีย์ขนาดเล็กที่ชาวบ้านถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี ชนชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ในจังหวัดใกล้เคียงจะมาร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน ที่ใกล้ๆหมู่บ้านมีน้ำตกตะเพินคี่ที่มีความสวยงามตามธรรมชาติอยู่ด้วย

เที่ยวป่าสนสองใบ

เที่ยวป่าสนสองใบ
ป่าสนสองใบ แห่งเดียวในภาคกลางที่อยู่ใกล้กรุงเทพมากที่สุด ห่างจากตัวอำเภอด่านช้างเพียง 30 กม. และเดินทางขึ้นเขาจากหน่วยพิทักษ์อุทยานฯที่1บ้านป่าขีไปเพียง 12 กม. เป็นความอัศจรรย์ของธรรมชาติที่เกิดป่าสนสองใบอยู่บนยอดเขาพุเตย ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลเพียง 763 เมตร ซึ่งโดยปกติ สนประเภทนี้จะเติบโตได้ในพื้นที่ภูเขาสูงชัน มีอากาศหนาวและชื้น เช่นที่ภาคเหนือและตอนบนของภาคอีสานที่สูงกว่า 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป ป่าสนสองใบที่นี่มีอยู่จำนวนทั้งสิ้น 1,376 ต้น ขนาดใหญ่ที่สุดคือโคนต้นขนาด 2 – 3 คนโอบ ขึ้นอยู่ในบริเวณยอดสันเขาปะปนอยู่กับป่าไม้เบญจพรรณ เมื่อมองลงมาทั้งทางตะวันออกและตะวันตกของภูเขาจะเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างที่สวยงาม โดยเฉพาะด้านตะวันตกจะได้เห็นอาณาบริเวณของสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์อยู่เบื้องล่าง หรือหากเดินทางเข้าไปตามเส้นทางพุน้ำร้อน – ปลักประดู่ – ดงเสลา – ทุ่งมะกอก – วังยาว –ห้วยหินดำและเข้าสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย ผ่านเข้าไปยังสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ เมื่อมองขึ้นไปทางทิศตะวันออกตามแนวยอดเขาจะเห็นรูปพรรณของป่าสนสองใบในระยะไกล ที่สวยงาม แปลกตากว่าป่าเบญจพรรณทั่วไป

มีข้อแนะนำว่า นักท่องเที่ยวที่สนใจ สามารถติดต่อได้ทั้งหน่วยพิทักษ์ฯ ที่1 ฝั่งตะวันออก และที่ทำการอุทยาน ฝั่งตะวันตกก็ได้ ควรใช้รถยนต์ปิคอัพ 1 ตัน รถแวนท้องสูง หรือเป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ก็ยิ่งดี ขับรถขึ้นไปใช้เวลาประมาณ 30 นาที ผ่านศาลเลาด้า (บริเวณที่ เครื่องบินเลาด้าแอร์เคยนำผู้โดยสาร 223 คนมาตกเมื่อ 26 พฤษภาคม 2534 ปัจจุบันยังมีเศษซากเครื่องบินหลงเหลืออยู่บ้าง) และทะลุป่าไผ่เข้าไปจอดรถบริเวณที่จัดไว้ แล้วเดินเท้าลอดดงไผ่ ข้ามยอดเขาที่ไม่ชันมากนักไปอีก 40 นาทีก็จะถึงป่าสนสองใบ ด้วยบรรยากาศของธรรมชาติที่แท้จริงจะทำให้ท่านหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งเลยทีเดียว

หากท่านประสงค์จะไปตั้งแคมป์กางเต๊นท์พักค้างคืนบนลานสนสองใบ ควรติดต่อให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯเพื่อให้ความสะดวกปลอดภัยและไร้กังวล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น